อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (20 เมษายน ค.ศ. 1889 – 30 เมษายน ค.ศ. 1945) เป็นนักการเมืองเยอรมนีสัญชาติออสเตรียโดยกำเนิด หัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ พรรคนาซี ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระหว่าง ค.ศ. 1933 ถึง 1945 และผู้เผด็จการของนาซีเยอรมนี (ตำแหน่ง ฟือแรร์อุนด์ไรช์สคันซแลร์) ตั้งแต่ ค.ศ. 1934 ถึง 1945 ฮิตเลอร์อยู่ ณ ศูนย์กลางของนาซีเยอรมนี สงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป และฮอโลคอสต์
ฮิตเลอร์เป็นทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผู้ได้รับการประดับอิสริยาภรณ์จากการรบ ต่อมา ฮิตเลอร์ได้เข้าร่วมพรรคกรรมกรเยอรมันใน ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองก่อนหน้าพรรคนาซี ก่อนจะได้เป็นหัวหน้าพรรคนาซีใน ค.ศ. 1921 เขาพยายามก่อรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า กบฏโรงเบียร์ ในเมืองมิวนิก เมื่อวันที่ 8-9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 แต่ล้มเหลว ฮิตเลอร์ถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งในระหว่างนั้นเองที่เขาเขียนบันทึกความทรงจำ ไมน์คัมพฟ์ (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1924 เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย และการเสนออุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมัน การต่อต้านยิว และการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยวาทศิลป์อันมีเสน่ห์ดึงดูดและการโฆษณาชวนเชื่อนาซี หลังได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 เขาเปลี่ยนสาธารณรัฐไวมาร์เป็นจักรวรรดิไรช์ที่สาม รัฐเผด็จการพรรคการเมืองเดียว ภายใต้อุดมการณ์นาซีอันมีลักษณะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จและอัตตาธิปไตย เป้าหมายของเขาคือ ระเบียบโลกใหม่ ที่ให้นาซีเยอรมนีครอบงำยุโรปภาคพื้นทวีปอย่างสมบูรณ์
นโยบายต่างประเทศและในประเทศของฮิตเลอร์มีความมุ่งหมายเพื่อยึดเลเบนสเราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") เป็นของชาวเยอรมัน เขานำการสร้างเสริมกำลังอาวุธขึ้นใหม่และการบุกครองโปแลนด์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 อันนำไปสู่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป ภายในสามปีใต้การนำของฮิตเลอร์ กองทัพเยอรมันและพันธมิตรในยุโรปยึดครองดินแดนยุโรปและแอฟริกาเหนือส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ค่อยพลิกผันหลัง ค.ศ. 1941 กระทั่งกองทัพสัมพันธมิตรเอาชนะกองทัพเยอรมันใน ค.ศ. 1945 นโยบายความสูงสุดและที่กระตุ้นด้วยการถือชาติพันธุ์ของฮิตเลอร์ลงเอยด้วยการฆาตกรรมผู้คนนับ 17 ล้านคนอย่างเป็นระบบ ในจำนวนนี้เป็นชาวยิวเกือบหกล้านคน
ปลายสงคราม ระหว่างยุทธการเบอร์ลินใน ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์แต่งงานกับเอวา บราวน์ ทั้งสองทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกกองทัพแดงของโซเวียตจับตัว และสั่งให้เผาร่างของตน
อาลัวส์ ฮิตเลอร์ (Alois Hitler) บิดาของฮิตเลอร์ เป็นบุตรนอกกฎหมายของมาเรีย แอนนา ชิคล์กรูเบอร์ (Maria Anna Schicklgruber) ดังนั้นชื่อบิดาจึงไม่ปรากฏในสูติบัตรของอาลัวส์ เขาใช้นามสกุลของมารดา ใน ค.ศ. 1842 โยฮันน์ เกออร์ก ฮีดเลอร์ (Johann Georg Hiedler) สมรสกับมาเรีย หลังมาเรียเสียชีวิตใน ค.ศ. 1847 และโยฮันน์เสียชีวิตใน ค.ศ. 1856 อาลัวส์ได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวของโยฮันน์ เนโพมุค ฮีดเลอร์ พี่ชายของฮีดเลอร์ กระทั่ง ค.ศ. 1876 อาลัวส์จึงได้มาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และทะเบียนพิธีศีลจุ่มถูกนักบวชเปลี่ยนต่อหน้าพยานสามคน ระหว่างรอการพิจารณาที่เนือร์นแบร์กใน ค.ศ. 1945 ข้ารัฐการนาซี ฮันส์ ฟรังค์ เสนอการมีอยู่ของจดหมายที่อ้างว่า มารดาของอาลัวส์ได้รับการว่าจ้างเป็นแม่บ้านแก่ครอบครัวยิวในกราซ และว่า บุตรชายวัย 19 ปีของครอบครัวนั้น เลโอโปลด์ ฟรันเคนเบอร์เกอร์ (Leopold Frankenberger) เป็นบิดาของอาลัวส์ อย่างไรก็ดี ไม่มีครอบครัวฟรันเคนเบอร์เกอร์ หรือชาวยิว ปรากฏในทะเบียนในกราซช่วงนั้น นักประวัติศาสตร์สงสัยการอ้างที่ว่า บิดาของอาลัวส์เป็นยิว
เมื่อมีอายุได้ 39 ปี อาลัวส์เปลี่ยนไปใช้นามสกุล "ฮิตเลอร์" ซึ่งสามารถยังสะกดได้เป็น ฮีดเลอร์ (Hiedler), ฮึทเลอร์ (H?ttler, Huettler) ชื่อนี้อาจถูกใช้ตามระเบียบโดยเสมียนธุรการ ที่มาของชื่อดังกล่าวอาจหมายถึง "ผู้อาศัยอยู่ในกระท่อม" (เยอรมัน: H?tte), "คนเลี้ยงแกะ" (เยอรมัน: h?ten; "เฝ้า") หรือมาจากคำภาษาสลาฟ ฮิดลาร์ และฮิดลาเร็ค
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เกิดวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1889 ที่กัสทอฟ ซุม พอมแมร์ (Gasthof zum Pommer) โรงแรมแห่งหนึ่งในรันส์ฮอเฟน (Ranshofen) หมู่บ้านซึ่งถูกรวมเข้ากับเทศบาลเบราเนาอัมอินน์ (Braunau am Inn) จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ใน ค.ศ. 1938 เขาเป็นบุตรคนที่สี่จากทั้งหมดหกคนของอาลัวส์ ฮิตเลอร์และคลารา เพิลเซล (Klara P?lzl) พี่ทั้งสามคนของฮิตเลอร์ กุสตาฟ ไอดา และออทโท เสียชีวิตตั้งแต่เป็นทารก เมื่อฮิตเลอร์อายุได้สามขวบ ครอบครัวของเขาย้ายไปพัสเซา เยอรมนี ที่ซึ่งทำให้ฮิตเลอร์มีสำเนียงท้องถิ่นแบบบาวาเรียล่างมากกว่าสำเนียงเยอรมันออสเตรีย และเป็นสำเนียงที่ฮิตเลอร์ใช้ตลอดชีวิต ใน ค.ศ. 1894 ครอบครัวได้ย้ายอีกหนหนึ่งไปยังเลออนดิง ใกล้กับลินซ์ และต่อมา เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1895 อาลัวส์ได้เกษียณไปยังที่ดินเล็ก ๆ ที่ฮาเฟลด์ ใกล้ลัมบัค ที่ซึ่งเขาพยายามประกอบอาชีพกสิกรรมและเลี้ยงผึ้งด้วยตนเอง ฮิตเลอร์เข้าศึกษาที่โรงเรียนที่ฟิชล์ฮัม (Fischlham) ในละแวกใกล้เคียง ขณะที่ยังเป็นเด็ก ฮิตเลอร์กลายมาติดการสงครามหลังพบหนังสือภาพเกี่ยวกับสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียท่ามกลางบรรดาสมบัติส่วนตัวของบิดา
การย้ายไปยังฮาเลฟด์เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการเริ่มต้นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพ่อลูก ซึ่งเกิดจากที่ฮิตเลอร์ปฏิเสธไม่เชื่อฟังกฎระเบียบอันเข้มงวดของโรงเรียนเขา ความพยายามทำกสิกรรมที่ฮาเฟลด์ของอาลัวส์สิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลว และใน ค.ศ. 1897 ครอบครัวฮิตเลอร์ย้ายไปลัมบัค ฮิตเลอร์เข้าศึกษาที่โรงเรียนคาทอลิกแห่งหนึ่งในระเบียงฉันนบถเบเนดิกติน (Benedictine) คริสต์ศตวรรษที่ 11 ซึ่งที่บนธรรมาสน์นั้นมีสัญลักษณ์สวัสดิกะที่ถูกปรับให้เข้ากับแบบบนตราอาร์มของเทโอโดริช ฟอน ฮาเกน อดีตอธิการวัด ฮิตเลอร์วัยแปดขวบเข้าเรียนร้องเพลง ร่วมอยู่ในวงประสานเสียงของโบสถ์ และกระทั่ง วาดฝันว่าตนจะเป็นนักบวช ใน ค.ศ. 1898 ครอบครัวฮิตเลอร์กลับไปอาศัย ณ เลออนดิง อย่างถาวร การเสียชีวิตของเอ็ดมุนด์ น้องชาย ด้วยโรคหัด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900 กระทบต่อฮิตเลอร์อย่างลึกซึ้ง จากที่เคยเป็นเด็กที่มั่นใจ เข้าสังคม และเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยม ฮิตเลอร์เป็นเด็กอารมณ์ขุ่นมัว เฉยชา และบึ้งตึงที่มีปัญหากับบิดาและครูอย่างต่อเนื่อง
อาลัวส์ประสบความสำเร็จในอาชีพในสำนักงานศุลกากร และต้องการให้ลูกชายเจริญตามรอยเขา ภายหลัง ฮิตเลอร์เล่าถึงช่วงนี้เกินความจริงเมื่อบิดาพาเขาไปชมที่ทำการศุลกากร โดยบรรยายว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การต่อต้านอย่างไม่อาจให้อภัยระหว่างพ่อลูกที่ต่างมีความตั้งใจแรงกล้าทั้งคู่ โดยละเลยต่อความต้องการของบุตรที่อยากเข้าศึกษายังโรงเรียนมัธยมคลาสสิกและจบมาเป็นศิลปิน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1900 อาลัวส์ส่งฮิตเลอร์ไปยังเรอัลชูเลอ (Realschule) ในลินซ์ ฮิตเลอร์ขัดขืนตัดสินใจนี้ และใน ไมน์คัมพฟ์ ได้เปิดเผยว่า เขาเรียนได้เลวมากในโรงเรียน ด้วยหวังว่าเมื่อบิดาเห็นว่า "ข้าพเจ้ามีความคืบหน้าน้อยเพียงใดที่โรงเรียนอาชีวะ เขาจะได้ปล่อยให้ข้าพเจ้าอุทิศตนแก่ความใฝ่ฝันของข้าพเจ้าเอง"
ฮิตเลอร์เริ่มหลงใหลในลัทธิชาตินิยมเยอรมันตั้งแต่เยาว์วัย ฮิตเลอร์แสดงความเคารพต่อเยอรมนีเท่านั้น แม้ราชวงศ์ฮับสบูร์กและการปกครองเหนือจักรวรรดิที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติจะเสื่อมลงก็ตาม ฮิตเลอร์และเพื่อนของเขาใช้คำทักทายภาษาเยอรมัน "ไฮล์" และร้องเพลงชาติเยอรมัน "ดอยท์ชลันด์อือแบร์อัลเลส์" แทนเพลงชาติจักรวรรดิออสเตรีย
หลังการเสียชีวิตกะทันหันของอาลัวส์เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1903 พฤติกรรมของฮิตเลอร์ที่โรงเรียนอาชีวะยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก มารดาเขาอนุญาตให้เขาลาออกในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1905 เขาลงเรียนที่เรอัลชูเลอในสเทเยอร์ (Steyr) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1904 พฤติกรรมและผลการเรียนของเขาแสดงถึงพัฒนาการเล็กน้อยและต่อเนื่องอยู่บ้าง ในฤดูไบ้ไม้ร่วง ค.ศ. 1905 หลังผ่านข้อสอบปลายภาค ฮิตเลอร์ก็ได้ออกจากโรงเรียนโดยไม่แสดงความทะเยอทะยานใด ๆ แก่การศึกษาต่อ หรือแผนที่ชัดเจนสำหรับอาชีพในอนาคต
นับจาก ค.ศ. 1905 ฮิตเลอร์ได้ใช้ชีวิตแบบโบฮีเมี่ยนในเวียนนาด้วยเงินสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการสนับสนุนจากมารดา เขาทำงานเป็นกรรมกรชั่วคราว และท้ายสุด เป็นจิตรกรขายภาพวาดสีน้ำ สถาบันวิจิตรศิลป์เวียนนาปฏิเสธเขาสองครั้ง ใน ค.ศ. 1907 และ 1908 เพราะ "ความไม่เหมาะสมที่จะวาดภาพ" ของเขา ผู้อำนวยการแนะนำให้ฮิตเลอร์เรียนสถาปัตยกรรม แต่เขาขาดเอกสารแสดงวิทยฐานะ วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1907 มารดาของเขาเสียชีวิตในวัย 47 ปี หลังสถาบันฯ ปฏิเสธเป็นครั้งที่สอง ฮิตเลอร์ก็หมดเงิน ใน ค.ศ. 1909 เขาอาศัยอยู่ในที่พักคนไร้ที่บ้าน และใน ค.ศ. 1910 เขาย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านพักชายรับจ้างยากจนบนถนนเมลเดมันน์สทราเซอ ขณะที่ฮิตเลอร์อยู่ที่นั่น เวียนนาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อคติทางศาสนาและคตินิยมเชื้อชาติแบบคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความกลัวว่าจะถูกผู้อพยพจากตะวันออกล่วงล้ำแพร่ขยาย และนายกเทศมนตรีประชานิยม คาร์ล ลือเกอร์ (Karl Lueger) ใช้วาทศิลป์เกลียดชังยิวรุนแรงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง คติเกลียดชังยิวรวมเยอรมันของเกออร์ก เชอเนเรอร์ (Georg Sch?nerer) มีผู้สนับสนุนอย่างแข็งแกร่งและฐานในย่านมาเรียฮิลฟ์ ที่ฮิตเลอร์อาศัยอยู่ ฮิตเลอร์อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง ดอยท์เชส โฟลค์สบลัทท์ (Deutsches Volksblatt) ที่กระพืออคติและเล่นกับความกลัวของคริสเตียนว่าจะต้องแบกภาระจากการไหล่บ่าเข้ามาของยิวตะวันออก ความเป็นปรปักษ์ต่อสิ่งที่ฮิตเลอร์เห็นว่าเป็น "โรคกลัวเยอรมัน" ของคาทอลิก เขาจึงเริ่มยกย่องมาร์ติน ลูเธอร์
จุดกำเนิดและการแสดงออกครั้งแรกของฮิตเลอร์ต่อคติเกลียดชังยิวนั้นยากที่จะพบ ฮิตเลอร์เขียนใน ไมน์คัมพฟ์ ว่า เขาเกลียดชังยิวครั้งแรกในเวียนนา เพื่อนสนิทของฮิตเลอร์ อูกุสท์ คูบีเซค (August Kubizek) อ้างว่า ฮิตเลอร์เป็น "ผู้เกลียดชังยิวที่ยืนยันแล้ว" ตั้งแต่ก่อนเขาออกจากลินซ์ บันทึกของคูบีเซคถูกนักประวัติศาสตร์ บรีจิทเทอ ฮามันน์ (Brigitte Hamann) เขียนโต้แย้ง เขาเขียนว่า "ในบรรดาพยานคนแรก ๆ ทั้งหมดที่สามารถเชื่อถือได้อย่างจริงจัง มีคูบีเซคคนเดียวที่บรรยายฮิตเลอร์วัยหนุ่มว่าเกลียดชังยิว และชัดเจนในประเด็นนี้ว่า เขาเชื่อถือไม่ค่อยได้" แหล่งข้อมูลหลายแหล่งให้หลักฐานหนักแน่นว่าฮิตเลอร์มีเพื่อนยิวในหอพักของเขาและในที่อื่นในเวียนนา ฮามันน์ยังสังเกตว่า ฮิตเลอร์ไม่มีบันทึกความเห็นเกลียดชังยิวระหว่างช่วงนี้ นักประวัติศาสตร์ เอียน เคอร์ชอว์ (Ian Kershaw) เสนอว่า หากฮิตเลอร์ได้ออกความเห็นเช่นนั้นจริง ความเห็นเหล่านั้นก็อาจไม่เป็นที่สังเกต เพราะคติเกลียดชังยิวที่มีอยู่ทั่วไปในเวียนนาขณะนั้น นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด เจ. อีแวนส์ ว่า "ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ส่วนมากยอมรับว่า คติเกลียดชังยิวอันฉาวโฉ่และการฆาตกรรม ต่อต้านยิว ของเขานั้น เกิดขึ้นหลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนี [ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง] อันเป็นผลของคำอธิบายมหันตภัยว่าเป็นเพราะ 'การแทงข้างหลัง' ประเภทหวาดระแวง"
ฮิตเลอร์ได้รับมรดกส่วนสุดท้ายจากทรัพย์สินของบิดาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1913 และย้ายไปมิวนิก นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าฮิตเลอร์ย้ายออกจากเวียนนาเพื่อหลบเลี่ยงการเกณฑ์เข้าสู่กองทัพออสเตรีย ภายหลัง ฮิตเลอร์อ้างว่า เขาไม่ประสงค์จะรับใช้รัฐฮับส์บูร์กเพราะการผสมผสาน "เชื้อชาติ" ในกองทัพ หลังเขาถูกเห็นว่าไม่เหมาะสมกับราชการทหาร เพราะไม่ผ่านการตรวจร่างกายในซาลซ์บูร์กเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914 เขากลับไปยังมิวนิก
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุ ฮิตเลอร์สมัครเข้ารับราชการในกองทัพเยอรมัน เขาได้รับการตอบรับในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นผลมาจากความปล่อยปละละเลยทางธุรการ เพราะเขายังเป็นพลเมืองออสเตรีย เขาถูกจัดไปยังกรมทหารราบกองหนุนบาวาเรีย 16 (กองร้อยที่ 1 แห่งกรมลิสท์) เขาปฏิบัติหน้าที่เป็นพลนำสารส่งแนวรบด้านตะวันตกในฝรั่งเศสและเบลเยียม ใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งอยู่หลังแนวหน้า เขาเข้าร่วมในยุทธการอีเปอร์ครั้งที่หนึ่ง ยุทธการแม่น้ำซอม ยุทธการอารัส และยุทธการพัสเชนแดเลอ และได้รับบาดเจ็บที่แม่น้ำซอม
ฮิตเลอร์ได้รับเชิดชูเกียรติสำหรับความกล้าหาญ ได้รับกางเขนเหล็กชั้นที่สอง ใน ค.ศ. 1914 และโดยแนะนำของ ฮูโก กุทมันน์ เขาได้รับกางเขนเหล็กชั้นที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1918 อิสริยาภรณ์ซึ่งน้อยครั้งนักจะมอบให้แก่ทหารชั้นผู้น้อยเช่นพลทหารอย่างเขา ตำแหน่งของฮิตเลอร์ที่กองบัญชาการกรม ทำให้เขามีปฏิสัมพันธ์บ่อยครั้งกับนายทหารอาวุโส อาจช่วยให้เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์นี้ แม้พฤติการณ์ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลอาจเป็นความกล้าหาญ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องพิเศษมากมายนัก เขายังได้รับเข็มการบาดเจ็บสีดำเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1918
ระหว่างรับราชการที่กองบัญชาการ ฮิตเลอร์ยังสร้างสรรค์งานศิลปะของตนต่อไป โดยวาดการ์ตูนและคำชี้แจงแก่หนังสือพิมพ์กองทัพ ระหว่างยุทธการแม่น้ำซอม ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1916 เขาได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขาหนีบ หรือต้นขาซ้ายเมื่อกระสุนปืนใหญ่ระเบิดในหลุมของพลนำสารระหว่างยุทธการแม่น้ำซอม ฮิตเลอร์ใช้เวลาเกือบสองเดือนในโรงพยาบาลกาชาดที่บีลิทซ์ เขากลับมายังกรมของเขาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1917 วันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1918 ฮิตเลอร์ตาบอดชั่วคราวจากการโจมตีด้วยแก๊สมัสตาร์ด และรับการรักษาในโรงพยาบาลในพาเซวัลค์ ขณะรักษาตัวอยู่ ฮิตเลอร์ทราบข่าวการพ่ายแพ้ของเยอรมนี และ จากบันทึกของเขา เมื่อทราบข่าว เขาก็ตาบอดอีกเป็นครั้งที่สอง
ฮิตเลอร์รู้สึกขมขื่นพังทลายของความพยายามทำสงคราม และการพัฒนาอุดมการณ์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างมั่นคง เขาอธิบายสงครามว่าเป็น "ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนืออื่นใด" และได้รับการยกย่องจากนายทหารผู้บังคับบัญชาสำหรับความกล้าหาญของเขา ประสบการณ์นี้ส่งผลให้ฮิตเลอร์เป็นผู้รักชาติเยอรมันอย่างหลงใหล และรู้สึกช็อกเมื่อเยอรมนียอมจำนนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เช่นเดียวกับพวกชาตินิยมเยอรมันอื่นทั้งหลาย เขาเชื่อในตำนานแทงข้างหลัง ซึ่งอ้างว่ากองทัพเยอรมัน "ไม่แพ้ในสมรภูมิ" ได้ถูก "แทงข้างหลัง" โดยผู้นำพลเรือนและพวกมากซิสต์จากแนวหลัง นักการเมืองเหล่านี้ภายหลังถูกขนานนามว่า "อาชญากรพฤศจิกายน"
สนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดให้เยอรมนีต้องสละดินแดนหลายแห่งและให้ไรน์แลนด์ปลอดทหาร สนธิสัญญากำหนดการลงโทษทางเศรษฐกิจและเรียกเก็บค่าปฏิกรรมสงครามจากประเทศ ชาวเยอรมันจำนวนมากเข้าใจว่าสนธิสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 231 ซึ่งประกาศให้เยอรมนีรับผิดชอบต่อสงคราม เป็นความอัปยศอดสู สภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในเยอรมนีได้รับผลกระทบจากสงครามและสนธิสัญญาแวร์ซายภายหลังถูกฮิตเลอร์ใช้แสวงประโยชน์ทางการเมือง
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ ฮิตเลอร์กลับมายังมิวนิก เพราะไม่มีแผนหรือโอกาสการศึกษาและอาชีพอย่างเป็นทางการ เขาจึงพยายามอยู่ในกองทัพให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นแวร์บินดุงสมันน์ (เจ้าหน้าที่การข่าว) แห่งเอาฟ์แคลรุงส์คอมมันโด (คอมมานโดลาดตระเวน) ของไรช์สเวร์ เพื่อมีอำนาจบังคับทหารอื่นและเพื่อแทรกซึมพรรคกรรมกรเยอรมัน (DAP) ระหว่างที่เขาเฝ้าติดตามกิจกรรมของพรรค DAP ฮิตเลอร์ถูกดึงดูดโดยแนวคิดต่อต้านยิว ชาตินิยม ต่อต้านทุนนิยม และต่อต้านมากซิสต์ของอันทอน เดร็กซ์แลร์ ผู้ก่อตั้งพรรค เดร็กซ์แลร์สนับสนุนรัฐบาลที่มีศักยะแข็งขัน สังคมนิยมรุ่นที่ "ไม่ใช่ยิว" และความสามัคคีท่ามกลางสมาชิกทั้งหมดของสังคม ด้วยความประทับใจกับทักษะวาทศิลป์ของฮิตเลอร์ เดร็กซ์แลร์จึงเชิญเขาเข้าร่วม DAP ฮิตเลอร์ยอมรับเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1919 เป็นสมาชิกพรรคคนที่ 55
ที่ DAP ฮิตเลอร์พบดีทริช เอคคาร์ท หนึ่งในสมาชิกคนแรก ๆ ของพรรคและสมาชิกของลัทธิทูเลอโซไซตี (Thule Society) เอคคาร์ทได้กลายมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ฮิตเลอร์ แลกเปลี่ยนความคิดกับเขา และแนะนำเขาให้รู้จักกับบุคคลในสังคมมิวนิกอย่างกว้างขวาง เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดแก่พรรค ทางพรรคได้เปลี่ยนชื่อเป็น "นาซิโยนอัลโซซีอัลลิสทีเชอ ดอยท์เชอ อาร์ไบแทร์พาร์ไท" หรือ พรรคสังคมนิยมกรรมกรแห่งชาติเยอรมัน (ย่อเป็น NSDAP) ฮิตเลอร์ออกแบบธงของพรรคเป็นสวัสติกะในวงกลมสีขาวบนพื้นหลังสีแดง
หลังถูกปลดประจำการในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1920 ฮิตเลอร์เริ่มทำงานกับพรรคเต็มเวลา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 ฮิตเลอร์ ซึ่งสามารถปราศรัยต่อผู้ฟังจำนวนมากได้เป็นผลดีแล้ว ปราศรัยแก่ฝูงชนมากกว่าหกพันคนในมิวนิก ในการประกาศเผยแพร่การชุมนุมดังกล่าว ผู้สนับสนุนพรรคสองคันรถบรรทุกขับไปรอบเมืองและโบกธงสวัสดิกะและโยนใบปลิว ไม่นานฮิตเลอร์ก็มีชื่อเสียงในทางไม่ดีจากความเอะอะโวยวายและการปราศรัยโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย นักการเมืองคู่แข่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกมากซิสต์และยิว ขณะนั้น NSDAP มีศูนย์กลางอยู่ในมิวนิก แหล่งเพาะหลักของลัทธิชาตินิยมเยอรมันต่อต้านรัฐบาลซึ่งตั้งใจบดขยี้ลัทธิมากซ์และบ่อนทำลายสาธารณรัฐไวมาร์
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1921 ระหว่างที่ฮิตเลอร์และเอคคาร์ทกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไประดมทุนยังเบอร์ลิน ได้เกิดการจลาจลขึ้นภายในพรรค DAP ในมิวนิก สมาชิกคณะกรรมการบริหารพรรค DAP ซึ่งบางคนมองว่าฮิตเลอร์ยโสเกินไป ต้องการผนวกรวมกับพรรคสังคมนิยมเยอรมัน (DSP) คู่แข่ง ฮิตเลอร์เดินทางกลับมิวนิกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 และยื่นใบลาออกจากพรรคด้วยความโกรธ สมาชิกกรรมการตระหนักว่าการลาออกของเขาจะหมายถึงจุดจบของพรรค ฮิตเลอร์ประกาศจะกลับเข้าพรรคอีกครั้งเมื่อเขาเป็นหัวหน้าพรรคแทนเดร็กซ์แลร์ และที่ทำการพรรคจะยังอยู่ในมิวนิกต่อไป คณะกรรมการตกลง เขาเข้าร่วมพรรคอีกครั้งเป็นสมาชิกคนที่ 3,680 เขายังเผชิญกับการคัดค้านภายในพรรคบ้าง แฮร์มันน์ เอสแซร์และพันธมิตรของเขาพิมพ์แผ่นพับ 3,000 แผ่นโจมตีฮิตเลอร์ว่าเป็นผู้ทรยศพรรค ไม่กี่วันให้หลัง ฮิตเลอร์กล่าวแก้ต่างและได้รับเสียงปรบมือดังสนั่น ยุทธศาสตร์ของเขาพิสูจน์แล้วว่าประสบผล ที่การประชุมใหญ่สมาชิกพรรค DAP เขาได้รับอำนาจเต็มในฐานะหัวหน้าพรรค โดยได้รับเสียงคัดค้านเพียงเสียงเดียว ฮิตเลอร์ยังได้รับการชดใช้จากคดีหมิ่นประมาทกับหนังสือพิมพ์สังคมนิยม มึนเชแนร์ โพสต์ ซึ่งตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตและรายได้ของเขา
สุนทรพจน์โรงเบียร์ที่เผ็ดร้อนของฮิตเลอร์เริ่มดึงดูดผู้ฟังขาประจำ เขาเริ่มช่ำชองในการใช้แก่นประชานิยมต่อผู้ฟังของเขา รวมทั้งการใช้แพะรับบาปผู้ซึ่งสามารถใช้กล่าวโทษแก่ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของผู้ฟังเขา นักประวัติศาสตร์ได้สังเกตปรากฏการณ์สะกดจิตของวาทศิลป์ที่เขาใช้ต่อผู้ฟังกลุ่มใหญ่ และของตาเขาในกลุ่มเล็ก เคสเซลเขียนว่า "อย่างล้นหลาม ... ชาวเยอรมันเอ่ยกับการร่ายมนต์ของความดึงดูดใจ 'สะกดจิต' ของฮิตเลอร์ คำนี้ปรากฏขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฮิตเลอร์กล่าวกันว่าได้สะกดจิตประเทศชาติ ยึดพวกเขาอยู่ในภวังค์ที่ถอนตัวไม่ขึ้น" นักประวัติศาสตร์ ฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ อธิบาย "ความมีเสน่ห์ของดวงตาคู่นั้น ซึ่งสะกดชายที่ดูสุขุมมานักต่อนัก" เขาใช้อำนาจดึงดูดส่วนตัวของเขาและความเข้าใจในจิตวิทยาฝูงชนเป็นประโยชน์แก่เขา ระหว่างพูดในที่สาธารณะ อัลฟอนส์ เฮค อดีตสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ อธิบายปฏิกิริยาที่มีต่อสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์ว่า "เราปะทุเข้าสู่ความบ้าคลังของความภูมิใจชาตินิยมที่อยู่ติดกับฮิสทีเรีย เป็นเวลาหลายนาทีติดกัน เราตะโกนสุดปอดของเรา ด้วยน้ำตาที่ไหลลงมาตามใบหน้าของเรา ซีก ไฮล์, ซีก ไฮล์, ซีก ไฮล์! นับแต่ชั่วขณะนั้น ผมเป็นของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ทั้งร่างกายและวิญญาณ" แม้ทักษะวาทศิลป์และคุณสมบัติส่วนตัวของเขาโดยทั่วไปจะได้รับการตอบรับดีจากฝูงชนขนาดใหญ่และในงานทางการ แต่บางคนที่พบฮิตเลอร์เป็นการส่วนตัวสังเกตว่า ลักษณะภายนอกและบุคลิกของเขาไม่อาจให้ความประทับใจสุดท้ายแก่พวกเขาได้
ผู้ติดตามคนแรก ๆ มีรูดอล์ฟ เฮสส์, อดีตนักบินกองทัพอากาศ แฮร์มันน์ เกอริง และร้อยเอกกองทัพบก แอร์นสท์ เริม ผู้ซึ่งต่อมา เป็นหัวหน้าองค์การกำลังกึ่งทหารของนาซี สทุร์มับไทลุง (SA, "กองพลวายุ") ซึ่งคอยคุ้มครองการประชุมและโจมตีคู่แข่งการเมืองอยู่บ่อยครั้ง อิทธิพลสำคัญคิดของเขาในช่วงนี้คือ เอาฟเบา เวไรนีกุง กลุ่มสมคบคิดอันประกอบด้วยกลุ่มพวกรัสเซียขาวเนรเทศและพวกชาติสังคมนิยมช่วงแรก ๆ กลุ่มดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากกองทุนที่มาจากนักอุตสาหกรรมอันมั่งคั่งอย่างเฮนรี ฟอร์ด แนะนำเขาสู่แนวคิดของการสมคบคิดยิว โดยเชื่อมโยงการเงินระหว่างประเทศกับบอลเชวิค
ฮิตเลอร์ขอการสนับสนุนจากพลเอกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อีริช ลูเดนดอร์ฟฟ์ สำหรับพยายามก่อรัฐประหารที่เรียกว่า "กบฏโรงเบียร์" พรรคนาซีได้ใช้ลัทธิฟาสซิสต์อิตาลีเป็นแบบภาพลักษณ์และนโยบาย และใน ค.ศ. 1923 ฮิตเลอร์ต้องการเลียนแบบ "การสวนสนามแห่งโรม" ของเบนิโต มุสโสลินี (ค.ศ. 1922) โดยจัดรัฐประหารของเขาเองในบาวาเรีย ตามด้วยการท้าทายรัฐบาลในเบอร์ลิน ฮิตเลอร์และลูเดนดอร์ฟฟ์แสวงหาสการสนับสนุนจากสทาทสคอมมิสซาร์ (ผู้ตรวจการรัฐ) กุสทัฟ ฟอน คาร์ ผู้ปกครองบาวาเรียโดยพฤตินัย อย่างไรก็ดี คาร์ ร่วมกับหัวหน้าตำรวจ ฮันส์ ริทแทร์ ฟอน ไซส์แซร์ และพลเอกแห่งไรช์สเวร์ ออทโท ฟอน ลอสซอว์ ต้องการสถาปนาลัทธิเผด็จการชาตินิยมโดยปราศจากฮิตเลอร์
ฮิตเลอร์ต้องการฉวยโอกาสสำคัญเพื่อการปลุกปั่นและการสนับสนุนของประชาชนอย่างได้ผล วันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 เขาและ SA โจมตีการประชุมสาธารณะที่มีผู้เข้าร่วม 3,000 คน ซึ่งจัดโดยคาฮร์ในเบือร์แกร์บรอยเคลแลร์ โรงเบียร์ขนาดใหญ่ในมิวนิก ฮิตเลอร์ขัดจังหวะปราศรัยของคาฮร์และประกาศว่าการปฏิวัติแห่งชาติเริ่มต้นขึ้น ประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่กับลูเดนดอร์ฟฟ์ โดยชักปืนพกออกมา ฮิตเลอร์ต้องการและได้รับการสนับสนุนจากคาฮร์ ไซส์แซร์และลอสซอ กองกำลังของฮิตเลอร์ประสบความสำเร็จช่วงแรกในการยึดไรช์สเวร์และกองบังคับการตำรวจท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ไม่มีกองทัพหรือตำรวจรัฐเข้าร่วมกับกองกำลังของเขา คาฮร์และเพื่อนของเขารีบถอนการสนับสนุนของตนและหนีไปเข้ากับฝ่ายต่อต้านฮิตเลอร์ วันรุ่งขึ้น ฮิตเลอร์และผู้ติดตามเดินขบวนจากโรงเบียร์ไปยังกระทรวงสงครามเพื่อล้มรัฐบาลบาวาเรียระหว่าง "การสวนสนามแห่งเบอร์ลิน" แต่ตำรวจสลายการชุมนุม สมาชิก NSDAP สิบหกคนและเจ้าหน้าที่ตำรวจสี่นายถูกสังหารไปในรัฐประหารที่ล้มเหลว
ฮิตเลอร์หลบหนีไปยังบ้านของแอร์นสท์ ฮันฟ์สทาเองล์ และหลักฐานบางชิ้นชี้ว่า เขาคิดทำอัตวินิบาตกรรม เขารู้สึกหดหู่แต่สงบลงเมื่อถูกจับกุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 ด้วยข้อหากบฏ การพิจารณาคดีของเขาเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1924 ต่อหน้าศาลประชาชนพิเศษในมิวนิก, และอัลเฟรด โรเซนแบร์กเป็นผู้นำชั่วคราวของ NSDAP แทน วันที่ 1 เมษายน ฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุกห้าปีในเรือนจำลันด์สแบร์ก เขาได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมิตรจากผู้คุม และได้รับอนุญาตให้รับจดหมายจำนวนมากจากผู้สนับสนุนและมีการเข้าเยี่ยมเป็นประจำจากเพื่อนร่วมพรรค ศาลสูงสุดบาวาเรียอภัยโทษและเขาถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1924 แย้งทัดทานของอัยการรัฐ ซึ่งหากรวมเวลาระหว่างคุมขังรอการพิจารณาคดีแล้ว ฮิตเลอร์ได้รับโทษในเรือนจำทั้งสิ้นเกินหนึ่งปีเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำลันด์สแบร์ก เขาได้อุทิศ ไมน์คัมพฟ์ ("การต่อสู้ของข้าพเจ้า" เดิมชื่อ "สี่ปีครึ่งกับการต่อสู้กับคำโกหก ความเขลาและความขลาด") ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ แก่ผู้ช่วยของเขา รูดอล์ฟ เฮสส์ไมน์คัมพฟ์ ซึ่งอุทิศให้กับสมาชิกทูเลอโซไซตี ดีทริช เอคคาร์ท เป็นทั้งอัตชีวประวัติและการแถลงอุดมการณ์ของเขา ไมน์คัมพฟ์ได้รับอิทธิพลจากหนังสือ The Passing of the Great Race โดยเมดิสัน แกรนท์ ซึ่งฮิตเลอร์เรียกว่า "ไบเบิลของข้าพเจ้า"ไมน์คัมพฟ์ได้รับการตีพิมพ์สองครั้งใน ค.ศ. 1925 และ 1926 ขายได้ประมาณ 228,000 เล่มระหว่าง ค.ศ. 1925 และ 1932 ใน ค.ศ. 1933 ซึ่งเป็นปีที่ฮิตเลอร์เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขายได้หนึ่งล้านเล่ม
เมื่อฮิตเลอร์ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำนั้น การเมืองในเยอรมนีสงบลงและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจำกัดโอกาสของฮิตเลอร์ในการปลุกระดมทางการเมือง ผลของกบฏโรงเบียร์ที่ล้มเหลว ทำให้ NSDAP และองค์การสืบเนื่องถูกกฎหมายห้ามในรัฐบาวาเรีย ในการประชุมกับนายกรัฐมนตรีบาวาเรีย ไฮน์ริช เฮลด์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1925 ฮิตเลอร์ตกลงที่จะเคารพอำนาจโดยชอบของรัฐ และเขาจะมุ่งแสวงหาอำนาจทางการเมืองเฉพาะผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น การประชุมดังกล่าวนำไปสู่การยกเลิกการห้าม NSDAP อย่างไรก็ดี ฮิตเลอร์ยังถูกห้ามมิให้ปราศรัยต่อสาธารณะ ซึ่งยังมีผลไปจนถึง ค.ศ. 1927 ในการรุกหน้าความทะเยอทะยานทางการเมืองแม้จะมีการสั่งห้ามนี้ ฮิตเลอร์แต่งตั้งเกรกอร์ สทรัสเซอ, ออทโท สทรัสเซอ และโยเซฟ เกิบเบิลส์ให้จัดการและขยาย NSDAP ทางตอนเหนือของเยอรมนี ด้วยความเป็นผู้จัดที่ยอดเยี่ยม เกรกอร์ สทรัสเซอได้เดินหน้าวิถีการเมืองที่เป็นอิสระมากขึ้น โดยเน้นองค์ประกอบของสังคมนิยมในโครงการพรรค
ฮิตเลอร์ปกครอง NSDAP โดยอัตโนมัติโดยอ้างฟือแรร์พรินซิพ ("หลักการผู้นำ") ตำแหน่งภายในพรรคไม่ถูกกำหนดโดยเลือกตั้ง แต่จะถูกบรรจุผ่านการแต่งตั้งโดยผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ซึ่งต้องการการเชื่อฟังโดยไม่มีการตั้งคำถามต่อประสงค์ของผู้นำ
ตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาตกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ผลกระทบในเยอรมนีนั้นเลวร้ายมาก หลายล้านคนตกงานและธนาคารหลักหลายแห่งต้องปิดกิจการ ฮิตเลอร์และ NSDAP เตรียมฉวยโอกาสจากเหตุฉุกเฉินเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนแก่พรรค พวกเขาสัญญาว่าจะบอกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซาย เสริมสร้างเศรษฐกิจและจัดหางาน
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในเยอรมนีเป็นโอกาสทางการเมืองสำหรับฮิตเลอร์ ชาวเยอรมันลังเลต่อสาธารณรัฐรัฐสภา ซึ่งเผชิญกับปัญหาคุกคามสำคัญจากทั้งพวกขวาและซ้ายจัดสุดโต่ง พรรคการเมืองสายกลางไม่สามารถหยุดยั้งกระแสแห่งลัทธิสุดโต่งเพิ่มขึ้นทุกที และการลงประชามติเยอรมนี ค.ศ. 1929 ช่วยยกระดับอุดมการณ์นาซี การเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1930 ส่งผลให้รัฐบาลผสมชุดใหญ่แตกหักและแทนที่โดยคณะรัฐมนตรีข้างน้อย นายกรัฐมนตรีไฮน์ริช บรือนิงแห่งพรรคกลาง ผู้นำคณะรัฐมนตรีชุดนั้น ปกครองโดยกฤษฎีกาฉุกเฉินจากประธานาธิบดี เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก การปกครองโดยกฤษฎีกาจะกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่และปูทางแก่รัฐบาลแบบอำนาจนิยม NSDAP เติบโตจากพรรคที่ไม่มีใครรู้จักและได้คะแนนเสียง 18.3% และ 107 ที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1930 กลายมาเป็นพรรคใหญ่ที่สุดอันดับสองในสภา
ฮิตเลอร์ปรากฏกายครั้งสำคัญในการพิจารณาคดีของนายทหารไรช์สเวร์สองนาย ร้อยตรีริชาร์ด เชรินแกร์และฮันส์ ลูดิน ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1930 ทั้งสองถูกตั้งข้อหาเป็นสมาชิก NSDAP ซึ่งขณะนั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้กำลังพลไรช์สเวร์เป็นสมาชิก อัยการให้เหตุผลว่า NSDAP เป็นพรรคสุดโต่ง ทนายฝ่ายจำเลย ฮันส์ ฟรังค์จึงเรียกฮิตเลอร์มาให้การเป็นพยานในศาล วันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1930 ฮิตเลอร์ ให้การว่า พรรคของเขาจะแสวงหาอำนาจทางการเมืองเฉพาะผ่านการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยเท่านั้น การให้การนั้นทำให้เขาได้รับการสนับสนุนมากในหมู่นายทหารในกองทัพ
มาตรการรัดเข็มขัดของบรือนิงทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยและไม่เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง ฮิตเลอร์ฉวยความอ่อนแอนี้โดยส่งข้อความทางการเมืองของเขาเจาะจงไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เช่น ชาวนา ทหารผ่านศึก และชนชั้นกลาง
ฮิตเลอร์สละสัญชาติออสเตรียของเขาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1925 แต่ในขณะนั้น เขายังไม่ได้สัญชาติเยอรมัน เป็นเวลาเกือบเจ็ดปีที่ฮิตเลอร์ไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองได้ และเสี่ยงถูกเนรเทศ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932 รัฐมนตรีมหาดไทยแห่งบรุนสวิค ผู้เป็นสมาชิก NSDAP แต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นผู้บริหารตัวแทนของรัฐในไรช์สรัทในเบอร์ลิน ทำให้ฮิตเลอร์เป็นพลเมืองบรุนสวิค และจึงเป็นพลเมืองเยอรมันอีกทอดหนึ่งเช่นกัน
ค.ศ. 1932 ฮิตเลอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับฟอน ฮินเดนบูร์ก เขาได้รับการสนับสนุนจากนักอุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจที่สุดของเยอรมนีหลายคน หลังสุนทรพจน์วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1932 ต่อสภาอุตสาหกรรมในดึสเซลดอร์ฟ อย่างไรก็ดี ฮินเดนบูร์กได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาตินิยม กษัตริย์นิยม คาทอลิกและสาธารณรัฐนิยม ตลอดจนสังคมประชาธิปไตยบางพรรค ฮิตเลอร์ใช้คำขวัญระหว่างหาเสียงว่า "ฮิตเลอร์อือแบร์ดอยท์ชลันด์" (ฮิตเลอร์เหนือเยอรมนี) โดยอ้างถึงทั้งความทะเยอทะยานทางการเมืองและการหาเสียงโดยเครื่องบินของเขา ฮิตเลอร์มาเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งทั้งสองรอบ โดยได้เสียงมากกว่า 35% ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย แม้จะพ่ายต่อฮินเดนบูร์ก การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ทำให้ฮิตเลอร์เป็นกำลังสำคัญในการเมืองเยอรมนี
การขาดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพทำให้นักการเมืองทรงอิทธิพลสองคน ฟรันซ์ ฟอน พาเพน และอัลเฟรด ฮูเกนแบร์ก ตลอดจนนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจหลายคน เขียนจดหมายถึงฮินเดนบูร์ก ผู้ลงนามกระตุ้นให้ฮินเดนบูร์กแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นหัวหน้ารัฐบาล "ซึ่งเป็นอิสระจากพรรคการเมืองในรัฐสภา" ซึ่งอาจแปรเปลี่ยนเป็นขบวนการซึ่งอาจ "สร้างความยินดีแก่ประชากรหลายล้านคน"
ฮินเดนบูร์กตกลงแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เต็มใจ หลังการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปอีกสองครั้ง คือ ในเดือนกรกฎาคมและพฤศจิกายน ค.ศ. 1932 ไม่มีพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ฮิตเลอร์จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมช่วงสั้น ๆ จัดตั้งโดย NSDAP และพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (DNVP) ของฮูเกนแบร์ก วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งระหว่างพิธีการที่กระชับและเรียบง่ายในสำนักงานของฮินเดนบูร์ก NSDAP นั่งเก้าอี้สามจากสิบเอ็ดตำแหน่ง ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี แฮร์มันน์ เกอริงเป็นรัฐมนตรีลอย และวิลเฮล์ม ฟริคเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย
ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์ดำเนินการต่อต้านความพยายามของคู่แข่งพรรค NSDAP ในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก เพราะการคุมเชิงทางการเมือง ฮิตเลอร์จึงขอประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กให้ยุบสภาไรช์สทักอีกครั้ง และกำหนดการเลือกตั้งไว้ต้นเดือนมีนาคม วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 อาคารไรช์สทักถูกวางเพลิง เกอริงกล่าวโทษว่าเป็นแผนการของคอมมิวนิสต์ เพราะมารีนัส ฟาน เดอร์ ลูบเบ (Marinus van der Lubbe) ถูกพบตัวในอาคารที่เพลิงกำลังลุกโหมอยู่นั้น ด้วยการกระตุ้นของฮิตเลอร์ ฮินเดนบูร์กตอบสนองโดยออกกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรช์สทัก 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งยับยั้งสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล (habeas corpus) กิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันถูกปราบปราม และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ราว 4,000 คนถูกจับกุม นักวิจัย รวมทั้งวิลเลียม แอล. ชิเรอร์ และอลัน บูลล็อก เห็นว่า NSDAP เองที่เป็นผู้รับผิดชอบวางเพลิงนั้น
นอกเหนือไปจากการรณรงค์ทางการเมืองแล้ว NSDAP ยังมีส่วนกับความรุนแรงกึ่งทหารและการขยายการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง 6 มีนาคม ค.ศ. 1933 ส่วนแบ่งคะแนนเสียงของ NSDAP เพิ่มขึ้นเป็น 43.9% และพรรคได้รับที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภา อย่างไรก็ดี พรรคของฮิตเลอร์ไม่สามารถครองเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ได้ จำต้องร่วมรัฐบาลกับ DNVP อีกหน
วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1933 มีการตั้งไรช์สทักใหม่ขึ้นในพิธีเปิดที่โบสถ์แกริซันในพอตสดัม "วันพอตสดัม" นี้จัดขึ้นเพื่อแสดงความสามัคคีระหว่างขบวนการนาซีกับอภิชนและทหารปรัสเซียเก่า ฮิตเลอร์ปรากฏกายในชุดมอร์นิงโค้ต ซึ่งเป็นชุดพิธีการกลางวัน และทักทายประธานาธิบดีฟอน ฮินเดนบูร์กอย่างถ่อมตน
เพื่อให้ได้มาซึ่งการควบคุมทางการเมืองเต็มที่โดยไม่ต้องกุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา รัฐบาลของฮิตเลอร์นำแอร์แมคทิกุงสเกเซตซ์ (รัฐบัญญัติมอบอำนาจ) ขึ้นออกเสียงในไรช์สทักที่เพิ่งเลือกตั้งใหม่ รัฐบัญญัติดังกล่าวมอบอำนาจนิติบัญญัติเต็มให้แก่คณะรัฐมนตรีของฮิตเลอร์เป็นเวลาสี่ปีและอนุญาตให้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญได้ (โดยมีข้อยกเว้นบางประการ) ร่างรัฐบัญญัติต้องการเสียงข้างมากสองในสามจึงผ่าน พรรคนาซีใช้บทบัญญัติแห่งกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรช์สทักกันมิให้ผู้แทนสังคมประชาธิปไตยหลายคนเข้าประชุม ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกยุบไปก่อนแล้ว
วันที่ 23 มีนาคม ไรช์สทักประชุมที่โรงอุปรากรครอลล์ ภายใต้สถานการณ์วุ่นวาย ชายเอสเอเป็นแถวปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในอาคาร ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ด้านนอกคัดค้านกฎหมายที่เสนอตะโกนคำขวัญและคุกคามสมาชิกรัฐสภาที่กำลังมาถึง ฐานะของพรรคกลาง พรรคใหญ่ที่สุดอันดับสามในไรช์สทัก กลายมาเป็นเด็ดขาด หลังฮิตเลอร์ให้คำมั่นด้วยวาจาแก่ ผู้นำพรรค ลุดวิก คาส ว่า ประธานาธิบดีฟอน ฮินเดนบูร์กจะยังคงมีอำนาจยับยั้ง (veto) คาสจึงประกาศว่า พรรคจะสนับสนุนรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ท้ายสุด รัฐบัญญัติมอบอำนาจผ่านด้วยเสียง 441-84 โดยมีทุกพรรค ยกเว้นพรรคสังคมประชาธิปไตย เห็นชอบ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ ร่วมกับกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรช์สทัก เปลี่ยนรัฐบาลของฮิตเลอร์เป็นเผด็ตการตามกฎหมายโดยพฤตินัย
เมื่อมีอำนาจควบคุมเต็มเหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหารแล้ว ฮิตเลอร์และพันธมิตรทางการเมืองของเขาเริ่มการปราบคู่แข่งการเมืองที่เหลืออย่างเป็นระบบ พรรคสังคมประชาธิปไตยถูกยุบตามพรรคคอมมิวนิสต์และสินทรัพย์ทั้งหมดถูกยึด ขณะที่ตัวแทนสหภาพแรงงานจำนวนมากอยู่ในกรุงเบอร์ลินเพื่อร่วมกิจกรรมเมย์เดย์ พลรบวายุของเอสเอได้ทำลายสำนักงานสหภาพแรงงานทั่วประเทศ วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1933 สหภาพแรงงานทั้งหมดถูกบีบให้ยุบและผู้นำถูกจับกุม บางคนถูกส่งไปยังค่ายกักกัน องค์การสหภาพใหม่ถูกจัดตั้งขึ้น โดยเป็นตัวแทนของคนงาน นายจ้างและเจ้าของบริษัททุกคนเป็นกลุ่มเดียว สหภาพแรงงานใหม่นี้สะท้อนแนวคิดชาติสังคมนิยมในวิญญาณแห่ง "โฟล์คสเกไมน์ชัฟท์" (ชุมชนเชื้อชาติเยอรมัน) ของฮิตเลอร์
เมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน พรรคอื่น ๆ ก็ได้ถูกยุบไปจนหมด และด้วยความช่วยเหลือของเอสเอ ฮิตเลอร์กดดันให้พรรครัฐบาลผสมในนามของเขา ฮูเกนแบร์ก ลาออก วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1933 พรรคนาซีของฮิตเลอร์ได้รับการประกาศให้เป็นพรรคการเมืองชอบด้วยกฎหมายพรรคเดียวในเยอรมนี ข้อเรียกร้องของเอสเอให้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารเพิ่มขึ้นสร้างความกังวลอย่างมากในหมู่ผู้นำทางทหาร อุตสาหกรรมและการเมือง ฮิตเลอร์สนองโดยกวาดล้างผู้นำเอสเอทั้งหมด ในเหตุการณ์ซึ่งต่อมาเรียกว่า คืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives) ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1934 ฮิตเลอร์ตั้งเป้าหมายแอร์นสท์ เริม และคู่แข่งการเมืองคนอื่น (เช่น เกรกอร์ สทรัสแซร์ และอดีตนายกรัฐมนตรี คุร์ท ฟอน ชไลแชร์) เริมและผู้นำเอสเอคนอื่น ๆ ร่วมกับคู่แข่งการเมืองของฮิตเลอร์จำนวนหนึ่ง ถูกล้อม จับกุมและยิงทิ้ง ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศและชาวเยอรมันบางคนตระหนกฆาตกรรม ชาวเยอรมันหลายคนมองว่าฮิตเลอร์กำลังฟื้นฟูระเบียบ
วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 ประธานาธิบดีฟอน ฮินเดนแบร์กถึงแก่อสัญกรรม หนึ่งวันก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรีได้ผ่านกฎหมายให้มีผลใช้บังคับเมื่อฮินเดนบูร์กเสียชีวิต ซึ่งล้มล้างตำแหน่งประธานาธิบดีและรวมอำนาจของประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์จึงกลายมาเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาล หรือ ฟือแรร์อุนด์ไรช์สคันซแลร์ (ผู้นำและนายกรัฐมนตรี) กฎหมายนี้แท้จริงแล้วละเมิดรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ขณะที่รัฐบัญญัติมอบอำนาจจะให้ฮิตเลอร์เปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญได้ แต่ห้ามเขาชัดเจนมิให้ผ่านกฎหมายใด ๆ ที่ขัดกับตำแหน่งประธานาธิบดี ใน ค.ศ. 1932 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานศาลยุติธรรมสูงสุด มิใช่นายกรัฐมนตรี รักษาการแทนประธานาธิบดีระหว่างที่มีการเลือกตั้งใหม่ ด้วยกฎหมายนี้ ฮิตเลอร์ได้ปลดทางแก้สุดท้ายตามกฎหมายที่จะถอดเขาออกจากตำแหน่ง
ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ฮิตเลอร์จึงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย การมอบสัตย์ปฏิญาณของทหารและกะลาสีตามประเพณีถูกเปลี่ยนเป็นการยืนยันความภักดีต่อฮิตเลอร์โดยตรง มากกว่าตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด วันที่ 19 สิงหาคม การรวมตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีได้รับการอนุมัติโดยลงประชามติ ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 90% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ
ต้น ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์บีบให้รัฐมนตรีสงคราม จอมพล แวร์แนร์ ฟอน บลอมแบร์ก ลาออก เมื่อสำนวนตำรวจพบว่า ภรรยาใหม่ของบลอมแบร์กเคยมีประวัติเป็นโสเภณี ฮิตเลอร์ถอดผู้บัญชาการทหารบก พลเอก แวร์แนร์ ฟอน ฟริทช์ หลังชุทสทัฟเฟล (เอสเอส) สร้างข้อกล่าวหาว่าเขามีส่วนในความสัมพันธ์ร่วมเพศ ชายทั้งคู่ได้สูญเสียความโปรดปรานเมื่อพวกเขาคัดค้านข้อเรียกร้องของฮิตเลอร์ที่ให้ทั้งสองเตรียมกองทัพบกให้พร้อมเข้าสู่สงครามภายใน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์ใช้กรณีนี้ ที่เรียกว่า กรณีอื้อฉาวบลอมแบร์ก-ฟริทซ์ เพื่อรวมการควบคุมกองทัพ เขาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทนบลอมแบร์ก ดังนั้น จึงสามารถบังคับบัญชากองทัพได้โดยตรง เขาเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสงครามกับโอแบร์คอมมันโดแดร์เวร์มัคท์ (กองบัญชาการทหารสูงสุด หรือ OKW) นำโดย พลเอก วิลเฮล์ม ไคเทล วันเดียวกัน พลเอกสิบหกนายถูกถอดจากตำแหน่ง และ 44 นายถูกย้าย ทั้งหมดถูกสงสัยว่าไม่นิยมนาซีพอ เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 พลเอกอื่นอีกสิบสองนายถูกปลด
หลังได้เสริมสร้างอำนาจการเมืองของเขาแล้ว ฮิตเลอร์ปราบปรามหรือกำจัดคู่แข่งของเขาด้วยกระบวนการชื่อ ไกลช์ชัลทุง ("จัดแถว") เขาพยายามหาการสนับสนุนจากสาธารณะเพิ่มเติมโดยสัญญาจะกลับผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสนธิสัญญาแวร์ซาย
ใน ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์แต่งตั้งฮจัลมาร์ ชัคท์ เป็นผู้มีอำนาจเต็มด้านเศรษฐกิจสงคราม รับผิดชอบการเตรียมเศรษฐกิจเพื่อสงคราม การฟื้นฟูบูรณะและการติดอาวุธใหม่ได้รับจัดหาเงินทุนผ่านเมโฟบิล การพิมพ์เงิน และการยึดสินทรัพย์ของผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาเสี้ยนหนามแผ่นดิน รวมทั้งยิว การว่างงานลดลงอย่างมาก จากหกล้านคนใน ค.ศ. 1932 เหลือหนึ่งล้านคนใน ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์เป็นผู้ดูแลหนึ่งในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคหนึ่งในครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อน ทางหลวง ทางรถไฟและงานสาธารณะอื่น ๆ ค่าจ้างลดลงเล็กน้อยในช่วงปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเทียบกับในสมัยไวมาร์ ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 25%
รัฐบาลฮิตเลอร์สนับสนุนสถาปัตยกรรมอย่างกว้างขวาง อัลแบร์ท สเพร์ ผู้นำการตีความแบบคลาสสิกของฮิตเลอร์นำไปปรับกับวัฒนธรรมเยอรมัน ถูกกำหนดให้รับผิดชอบการปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมในเบอร์ลิน ฮิตเลอร์เปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในเบอร์ลิน
ในการประชุมกับผู้นำทางทหารของเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์กล่าวถึง "การพิชิตเพื่อเลเบนสเราม์ในทางตะวันออกและทำให้เป็นเยอรมันอย่างไร้ความปรานี" เป็นความมุ่งหมายนโยบายต่างประเทศสูงสุดของเขา ในเดือนมีนาคม เจ้าชายแบร์นาร์ด วิลเฮล์ม ฟอน บือโลว์ เลขานุการเอาสวแวร์ทีเกส อัมท์ (กระทรวงการต่างประเทศ) ออกแถลงการณ์ใหญ่ถึงเป้าประสงค์ของนโยบายต่างประเทศกับเยอรมนี คือ อันชลูสส์กับออสเตรีย การฟื้นฟูพรมแดนแห่งชาติของเยอรมนีใน ค.ศ. 1914 การปฏิเสธการจำกัดทางทหารภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย การได้อดีตอาณานิคมเยอรมนีในแอฟริกาคืน และเขตอิทธิพลของเยอรมนีในยุโรปตะวันออก ฮิตเลอร์พบว่าเป้าหมายของบือโลว์นั้นถ่อมเกินไป ในสุนทรพจน์ของเขาช่วงนี้ เขาเน้นย้ำเป้าหมายของนโยบายและความเต็มใจทำงานภายในข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างสันติ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกใน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์จัดลำดับรายจ่ายทางทหารมาก่อนเงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน
เยอรมนีถอนตัวจากสันนิบาตชาติและการประชุมปลดอาวุธโลกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1933 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์ประกาศขยายกำลังพลเวร์มัคท์เป็น 600,000 นาย หกเท่าของจำนวนที่สนธิสัญญาแวร์ซายอนุญาต รวมถึงการพัฒนากองทัพอากาศ (ลุฟท์วัฟเฟอ) และการเพิ่มขนาดกองทัพเรือ (ครีกสมารีเนอ) อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและสันนิบาตชาติประณามแผนการเหล่านี้ว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย ข้อตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมัน วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1935 อนุญาตให้ระวางน้ำหนักของกองทัพเรือเยอรมันเพิ่มขึ้นเป็น 35% ของราชนาวีอังกฤษ ฮิตเลอร์เรียกการลงนามข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็น "วันที่สุขที่สุดในชีวิตเขา" ดังที่เขาเชื่อว่าข้อตกลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของพันธมิตรอังกฤษ-เยอรมันที่เขาได้ทำนายไว้ในไมน์คัมพฟ์ ฝรั่งเศสและอิตาลีไม่ได้รับการปรึกษาก่อนลงนาม ซึ่งเป็นการบั่นทอนสันนิบาตชาติโดยตรง และทิ้งสนธิสัญญาแวร์ซายบนหนทางสู่ความไม่ลงรอยกัน
เยอรมนียึดครองเขตปลอดทหารในไรน์แลนด์อีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 อันเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย ฮิตเลอร์ส่งกำลังเข้าไปในสเปนเพื่อสนับสนุนพลเอกฟรังโก หลังได้รับการขอความช่วยเหลือในเดือกรกฎาคม ค.ศ. 1936 ในขณะเดียวกัน ฮิตเลอร์พยายามสร้างพันธมิตรอังฤษ-เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ในการสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามขึ้นอันเกิดจากความพยายามสร้างเสริมอาวุธขึ้นใหม่ ฮิตเลอร์จึงออกบันทึกข้อความสั่งแฮร์มันน์ เกอริงเพื่อดำเนินการแผนการสี่ปีเพื่อให้เยอรมนีพร้อมทำสงครามภายในสี่ปีข้างหน้า "บันทึกข้อความแผนการสี่ปี" เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1936 กำหนดการต่อสู้สุดกำลังระหว่าง "ยิว-บอลเชวิค" กับชาติสังคมนิยมเยอรมัน ซึ่งในมุมมองของฮิตเลอร์ จำเป็นต้องมีความพยายามที่ผูกมัดในการเสริมสร้างอาวุธโดยไม่คำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ
เคานต์กาเลอัซโซ ซีอาโน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเบนิโต มุสโสลินี ประกาศอักษะระหว่างเยอรมนีกับอิตาลี และในวันที่ 25 พฤศจิกายน เยอรมนีลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับญี่ปุ่น อังกฤษ จีน อิตาลีและโปแลนด์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย แต่มีเพียงอิตาลีเท่านั้นที่ลงนามใน ค.ศ. 1937 ฮิตเลอร์ละทิ้งความฝันพันธมิตรอังกฤษ-เยอรมนี โดยกล่างโทษว่าผู้นำอังกฤษ "ไม่เหมาะสม" เขาจัดการประชุมลับที่ทำเนียบรัฐบาลไรช์กับรัฐมนตรีสงครามและต่างประเทศ ตลอดจนหัวหน้าทางทหารในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ตามบันทึกข้อความฮอสซบัค ฮิตเลอร์แถลงเจตนาในการได้มาซึ่งเลเบนสเราม์สำหรับชาวเยอรมัน และสั่งเตรียมทำสงครามในทางตะวันออก ซึ่งจะเริ่มขึ้นไม่ช้ากว่า ค.ศ. 1943 เขาแถลงว่าบันทึกการประชุมถือว่าเป็น "พินัยกรรมการเมือง" ในกรณีเขาเสียชีวิต เขารู้สึกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเยอรมนีได้มาถึงจุดที่มาตรฐานการครองชีพในเยอรมนีถดถอยรุนแรงจนต้องใช้เฉพาะนโยบายก้าวร้าวทางทหาร คือ ยึดออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย เท่านั้น ฮิตเลอร์กระตุ้นการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ก่อนที่อังกฤษและฝรั่งเศสจะเป็นผู้นำการแข่งขันอาวุธอย่างถาวร ต้น ค.ศ. 1938 ตามติดกรณีอื้อฉาวบลอมแบร์ก-ฟริทช์ ฮิตเลอร์ถือสิทธิ์ควบคุมระบบนโยบายทางทหาร-ต่างประเทศ โดยปลดนอยรัทจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาครองบทบาทและตำแหน่งโอแบร์สเทียร์ เบเฟลชาแบร์ แดร์ เวร์มัคท์ (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) จากต้น ค.ศ. 1938 สืบมา ฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งมีสงครามเป็นเป้าหมายสูงสุด
มโนทัศน์หลักของนาซี คือ แนวคิดความสะอาดเชื้อชาติ วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1935 เขาเสนอกฎหมายสองฉบับ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ กฎหมายเนือร์นแบร์ก แก่ไรช์สทัก กฎหมายนี้ห้ามการสมรสระหว่างผู้ที่มิใช่ยิวกับเยอรมันเชื้อสายยิว และห้ามการจ้างสตรีมิใช่ยิวอายุต่ำกว่า 45 ปีในครัวเรือนยิว กฎหมายกีดกันผู้ที่ "มิใช่อารยัน" จากประโยชน์ของพลเมืองเยอรมัน นโยบายสุพันธุศาสตร์ช่วงแรกของฮิตเลอร์มุ่งไปยังเด็กที่บกพร่องทางกายและการพัฒนาในโครงการที่ถูกขนานนามว่า การปฏิบัติบรันดท์ (Action Brandt) และภายหลังอนุมัติโครงการการุณยฆาตแก่ผู้ใหญ่ที่บกพร่องทางจิตและกายอย่างร้ายแรง ซึ่งปัจจุบันมักเรียกว่า การปฏิบัติเท4 (Action T4)
แนวคิดเลเบนสเราม์ของฮิตเลอร์ ซึ่งรับหลักการในไมน์คัมพฟ์ มุ่งการได้มาซึ่งดินแดนใหม่สำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวเยอรมันในยุโรปตะวันออก เจเนรัลพลันโอสท์ ("แผนการทั่วไปสำหรับทางตะวันออก") กำหนดให้ประชากรในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตส่วนที่ถูกยึดครองเนรเทศไปยังไซบีเรียตะวันตก เพื่อใช้เป็นแรงงานทาสหรือสังหารทิ้ง ดินแดนที่ถูกพิชิตจะถูกตั้งเป็นอาณานิคมของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมันหรือที่ถูก "ทำให้เป็นเยอรมัน" แผนการเดิมกำหนดให้กระบวนการนี้เริ่มต้นหลังการพิชิตสหภาพโซเวียต แต่เมื่อไม่เป็นผล ฮิตเลอร์จึงเลื่อนแผนการออกไป จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 การตัดสินใจนี้ได้นำไปยังการสังหารชาวยิวและผู้ถูกเนรเทศอื่นซึ่งถูกพิจารณาว่าไม่พึงปรารถนา
ฮอโลคอสต์ (อังกฤษ: The Holocuast) (Endl?sung der j?dischen Frage หรือ "การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย") จัดขึ้นและดำเนินการโดยไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์และไรนาร์ด ไฮดริช บันทึกการประชุมวันน์เซ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1942 และนำโดยไรนาร์ด ไฮดริช ร่วมกับเจ้าหน้าที่นาซีอาวุโสอื่นอีกสิบห้าคน เป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดถึงการวางแผนฮอโลคอสต์อย่างเป็นระบบ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีบันทึกคำกล่าวของฮิตเลอร์ต่อเพื่อนร่วมงานว่า "สุขภาพดีของเราจะฟื้นคืนก็ด้วยการสังหารยิวเท่านั้น" มีค่ายกักกันและค่ายมรณะนาซีประมาณสามสิบแห่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ จนถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1942 สถานที่ตั้งค่ายกักกันเอาชวิทซ์ถูกดัดแปลงให้สามารถรองรับผู้ถูกเนรเทศจำนวนมากเพื่อสังหารหรือใช้แรงงานทาส
แม้ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งเจาะจงจากฮิตเลอร์ที่อนุมัติการสังหารหมู่ เขาได้อนุมัติไอน์ซัทซกรุพเพน หน่วยสังหารซึ่งติดตามกองทัพเยอรมันผ่านโปแลนด์และรัสเซีย เขายังได้รับรายงานอย่างดีเกี่ยวกับพฤติกรรมของหน่วยนี้ด้วย ระหว่างการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่สืบราชการลับโซเวียต บันทึกซึ่งได้รับการเปิดเผยในอีกกว่าห้าสิบปีให้หลัง คนขับรถของฮิตเลอร์ ไฮนซ์ ลินเกอ และผู้ช่วยของเขา ออทโท กึนเชอ แถลงว่าฮิตเลอร์มีความสนใจโดยตรงในการพัฒนาห้องรมแก๊ส
ระหว่าง ค.ศ. 1939 ถึง 1945 เอสเอส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผู้ให้ความร่วมมือและทหารเกณฑ์จากประเทศที่ถูกยึดครอง รับผิดชอบเสียชีวิตถึงสิบเอ็ดถึงสิบสี่ล้านชีวิต รวมทั้งชาวยิวหกล้านคน คิดเป็นสองในสามของประชากรยิวในยุโรป และชาวโรมาระหว่าง 500,000 ถึง 1,500,000 คน การเสียชีวิตเกิดขึ้นในค่ายกักกันและค่ายมรณะ ย่านชาวยิว และการประหารชีวิตหมู่ เหยื่อการล้างชาติหลายคนถูกรมแก๊สจนเสียชีวิต ขณะที่บ้างเสียชีวิตเพราะหิวโหยหรือป่วยขณะใช้แรงงานทาส
นโยบายของฮิตเลอร์ยังส่งผลให้มีการสังหารชาวโปแลนด์ และเชลยศึกโซเวียต พวกคอมมิวนิสต์และศัตรูการเมืองอื่น พวกรักร่วมเพศ ผู้พิการทางกายหรือใจ ผู้นับถือลัทธิพยานพระยะโฮวาห์ นิกายแอดเวนติสต์ และผู้นำสหภาพแรงงาน ฮิตเลอร์ไม่เคยปรากฏว่าเยือนค่ายกักกันและมิได้พูดถึงการสังหารอย่างเปิดเผย.
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 ด้วยการแนะนำจากรัฐมนตรีต่างประเทศที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ โจอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ ผู้นิยมญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน ฮิตเลอร์จึงยุติพันธมิตรจีน-เยอรมันกับสาธารณรัฐจีนและเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่ทันสมัยและทรงอำนาจกว่า ฮิตเลอร์ประกาศรับรองแมนจูกัว รัฐที่ญี่ปุ่นยึดครองในแมนจูเรีย ของเยอรมนี และสละการอ้างสิทธิ์ของเยอรมนีเหนืออดีตอาณานิคมในแปซิฟิกที่ญี่ปุ่นถือครองอยู่ ฮิตเลอร์สั่งยุติการส่งอาวุธไปยังจีน และเรียกนายทหารเยอรมันที่ทำงานกับกองทัพจีนทั้งหมดกลับ เพื่อเป็นการตอบโต้ พลเอก เจียง ไคเช็ก ของจีนยกเลิกข้อตกลงเศรษฐกิจจีน-เยอรมนีทั้งหมด ทำให้เยอรมนีขาดวัตถุดิบจากจีน แม้จีนจะยังขนส่งทังสเตนซึ่งเป็นโลหะสำคัญในการผลิตอาวุธ ต่อไปจนกระทั่ง ค.ศ. 1939
วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์ประกาศรวมออสเตรียเข้ากับนาซีเยอรมนีในอันชลุสส์ จากนั้นฮิตเลอร์มุ่งความสนใจของเขาไปยังประชากรเชื้อชาติเยอรมันในเขตซูเดเตนแลนด์ของเชโกสโลวาเกีย
วันที่ 28-29 มีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์จัดการประชุมลับขึ้นหลายครั้งในกรุงเบอร์ลินกับคอนรัด เฮนไลน์ แห่งซูเดเตนไฮม์ฟรอนท์ (Heimfront, "แนวสนับสนุน") พรรคการเมืองเชื้อชาติเยอรมันใหญ่ที่สุดในซูเดเตนแลนด์ ทั้งสองตกลงว่าเฮนไลน์จะเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองสำหรับชาวเยอรมันซูเดเตนเพิ่มขึ้นจากรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย ซึ่งจะเป็นข้ออ้างสำหรับการปฏิบัติทางทหารต่อเชโกสโลวาเกีย ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 เฮนไลน์บอกรัฐมนตรีต่างประเทศฮังการีว่า "ไม่ว่ารัฐบาลเช็กจะเสนออะไร เขาจะเรียกร้องสูงขึ้นเสมอ ... เขาต้องการบ่อนทำลายความเข้าใจในทุกวิถีทาง เพราะนี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะระเบิดเชโกสโลวาเกียอย่างรวดเร็ว" โดยส่วนตัว ฮิตเลอร์มองว่าปัญหาซูเดเตนไม่สำคัญ เจตนาที่แท้จริงของเขานั้นคือสงครามพิชิตเชโกสโลวาเกีย
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์สั่งให้ OKW เตรียมการสำหรับฟัลกรึน (Fall Gr?n, "กรณีเขียว") ชื่อรหัสสำหรับการบุกครองเชโกสโลวาเกีย ด้วยผลของแรงกดดันทางการทูตอย่างหนักจากฝรั่งเศสและอังกฤษ วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1938 ประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกีย เอ็ดวาร์ด เบเนช จึงประกาศ "แผนการที่สี่" เพื่อจัดระเบียบประเทศใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตกลงรับข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของเฮนไลน์ว่าด้วยการปกครองตนเองของซูเดเตน ไฮม์ฟรอนท์ของเฮนไลน์สนองต่อข้อเสนอของเบเนชด้วยการปะทะอย่างรุนแรงหลายครั้งกับตำรวจเชโกสโลวาเกีย ซึ่งนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกในบางเขตของซูเดเตน
เยอรมนีนั้นพึ่งพาน้ำมันนำเข้า การเผชิญหน้ากับอังกฤษเหนือกรณีพิพาทเชโกสโลวาเกียอาจตัดทอนเสบียงน้ำมันของเยอรมนีได้ ฮิตเลอร์จึงเลื่อนฟัลกรึนออกไป ซึ่งเดิมวางแผนไว้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1938 วันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์, เนวิลล์ เชมเบอร์เลน, เอดูอาร์ ดาลาดีเย และเบนิโต มุสโสลินีเข้าร่วมการประชุมหนึ่งวันในกรุงมิวนิกซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงมิวนิก ซึ่งได้มอบเขตซูเดเตนแลนด์ให้แก่เยอรมนี
เชมเบอร์เลนพอใจกับการประชุมมิวนิก โดยเรียกผลว่า "สันติภาพในสมัยของเรา" ขณะที่ฮิตเลอร์โกรธกับโอกาสทำสงครามที่พลาดไปใน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์แสดงความผิดหวังของเขาต่อข้อตกลงมิวนิกออกมาในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1938 ในซาร์บรึกเคน ในมุมมองของฮิตเลอร์ สันติภาพซึ่งอังกฤษเป็นนายหน้านั้น แม้จะอำนวยประโยชน์เรียกร้องบังหน้าของเยอรมนี แต่ก็เป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตซึ่งยิ่งกระตุ้นเจตนาของฮิตเลอร์ในการจำกัดอำนาจของอังกฤษเพื่อกรุยทางแก่การขยายตัวไปทางตะวันออกของเยอรมนี ผลจากการประชุมนี้ ฮิตเลอร์ได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ ค.ศ. 1938
ในปลาย ค.ศ. 1938 และต้น ค.ศ. 1939 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ดำเนินต่อไปซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามสร้างเสริมอาวุธใหม่บีบให้ฮิตเลอร์ตัดงบประมาณป้องกันประเทศลงอย่างมาก วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์ "ส่งออกหรือตาย" โดยเรียกร้องการรุกทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเพื่อเพิ่มสินทรัพย์แลกเปลี่ยนต่างประเทศเยอรมนีเพื่อจ่ายเป็นค่าวัตถุดิบ เช่น เหล็กคุณภาพสูงซึ่งจำเป็นต่ออาวุธทางทหาร
วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1939 โดยเป็นการละเมิดข้อตกลงมิวนิกและอาจเป็นเพราะผลของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ถลำลึกซึ่งต้องการสินทรัพย์เพิ่มเติม ฮิตเลอร์จึงสั่งให้เวร์มัคท์บุกครองปราก และจากปราสาทปรากได้ประกาศให้โบฮีเมียและโมราเวียเป็นรัฐในอารักขาของเยอรมนี
ในการประชุมส่วนตัวใน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์อธิบายว่าอังกฤษเป็นศัตรูหลักที่จำต้องถูกพิชิต ในมุมมองของเขา การลบล้างโปแลนด์จากการเป็นชาติมีอธิปไตยเป็นการโหมโรงที่จำเป็นสู่เป้าหมายนั้น ปีกตะวันออกจำต้องได้รับการทำให้ปลอดภัย และที่ดินจะถูกเพิ่มเข้าไปในเลเบนสเราม์ของเยอรมนี ฮิตเลอร์ต้องการให้โปแลนด์เป็นรัฐบริวารของเยอรมนีหรือมิฉะนั้นก็ถูกทำให้เป็นกลางเพื่อให้ปีกทางตะวันออกของไรช์ปลอดภัย และเพื่อป้องกันการปิดล้อมของอังกฤษที่เป็นไปได้ แต่เดิม ฮิตเลอร์ชอบแนวคิดรัฐบริวาร ซึ่งถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลโปแลนด์ ดังนั้น ฮิตเลอร์จึงตัดสินใจบุกครองโปแลนด์ ซึ่งเขาถือว่าเป็นเป้าหมายนโยบายต่างประเทศหลักของเยอรมนีใน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ถูกขัดใจที่อังกฤษ "รับประกัน" เอกราชของโปแลนด์ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1939 และบอกแก่เพื่อนร่วมงานเขาว่า "ฉันจะบ่มเครื่องดื่มปิศาจให้พวกมัน" ในสุนทรพจน์ในวิลเฮล์มชาเวนเพื่อปล่อยเรือประจัญบานเทียร์พิตซ์ลงน้ำเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ขู่จะบอกเลิกข้อตกลงนาวีอังกฤษ-เยอรมันเป็นครั้งแรก หากอังกฤษยืนกรานการรับประกันเอกราชของโปแลนด์ ซึ่งเขามองว่าเป็นนโยบาย "ตีวงล้อม" วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์สั่งการให้ฝ่ายทหารเตรียมการสำหรับฟัลไวสส์ (Fall Weiss, "กรณีขาว") แผนการสำหรับการบุกครองของเยอรมนีในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ในสุนทรพจน์ต่อไรช์สทักเมื่อวันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์บอกเลิกทั้งข้อตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมันและสนธิสัญญาไม่รุกรานเยอรมนี-โปแลนด์ ฮิตเลอร์กล่าวแก่นายพลของเขาว่าแผนการดั้งเดิมของเขาใน ค.ศ. 1939 คือ "... จัดตั้งความสัมพันธ์ที่ยอมรับได้กับโปแลนด์เพื่อต่อสู้กับตะวันตก" เนื่องจากโปแลนด์ปฏิเสธจะเป็นบริวารของเยอรมนี ฮิตเลอร์จึงเชื่อว่าทางเลือกเดียวของเขาคือการบุกครองโปแลนด์
นักประวัติศาสตร์ เช่น วิลเลียม คาร์, แกร์ฮาร์ด ไวน์แบร์ก และเอียน เคอร์ชอว์ เสนอว่า สาเหตุหนึ่งที่ฮิตเลอร์เร่งทำสงคราม เพราะความกลัวผิดปกติและหมกมุ่นของเขาว่าจะตายก่อนวัยอันควร และดังนั้น จึงมีความรู้สึกว่า เขาอาจไม่มีชีวิตอยู่จนสำเร็จงานของเขาก็ได้
ฮิตเลอร์เดิมกังวลว่าการโจมตีทางทหารต่อโปแลนด์อาจส่งผลให้เกิดสงครามกับอังกฤษก่อนเวลาอันควร อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศของฮิตเลอร์ และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน โจอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ ยืนยันแก่เขาว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจะไม่เคารพการผูกมัดของพวกตนต่อโปแลนด์ และสงครามเยอรมนี-โปแลนด์จะเป็นเพียงสงครามในภูมิภาคจำกัด ริบเบนทรอพอ้างว่าในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1938 รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ชอร์ช บอเน (Georges Bonnet) ได้แถลงว่า ฝรั่งเศสมองว่ายุโรปตะวันออกเป็นเขตอิทธิพลจำเพาะของเยอรมนี ริบเบนทรอพได้แสดงโทรเลขภายใน (diplomatic cable) แก่ฮิตเลอร์ซึ่งสนับสนุนการวิเคราะห์ของเขา เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงลอนดอน แฮร์แบร์ท ฟอน ดีร์คเซน สนับสนุนการวิเคราะห์ของริบเบนทรอพด้วยการเดินหนังสือในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 โดยรายงานว่าเชมเบอร์เลนทราบ "โครงสร้างสังคมของอังกฤษ กระทั่งกรอบความคิดของจักรวรรดิอังกฤษ ว่าจะไม่รอดพ้นความยุ่งเหยิงของสงครามแม้จะชนะก็ตาม" และดังนั้นจึงจะยอมอ่อนตาม เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์จึงสั่งระดมพลทางทหารต่อโปแลนด์
แผนการสำหรับการทัพทางทหารในโปแลนด์ของฮิตเลอร์เมื่อปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนโดยปริยายของโซเวียต สนธิสัญญาไม่รุกราน (สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ) ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของโจเซฟ สตาลิน รวมภาคผนวกลับด้วยข้อตกลงแบ่งโปแลนด์ระหว่างสองประเทศ ในการสนองต่อสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ อังกฤษและโปแลนด์ลงนามในพันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ซึ่งขัดกับที่ริบเบนทรอพพยากรณ์ไว้ว่าสนธิสัญญาที่เพิ่งก่อตั้งนี้จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษ-โปแลนด์ พันธมิตรนี้ ร่วมกับข่าวจากอิตาลีที่ว่ามุสโสลินีจะไม่เคารพสนธิสัญญาเหล็ก ทำให้ฮิตเลอร์เลื่อนการโจมตีโปแลนด์ออกไปจากวันที่ 25 สิงหาคม ไปเป็น 1 กันยายน ไม่กี่วันก่อนสงครามเริ่มต้น ฮิตเลอร์พยายามออกอุบายให้อังกฤษวางตัวเป็นกลางโดยเสนอการรับประกันไม่รุกรานต่อจักรวรรดิอังกฤษเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และโดยให้ริบเบนทรอพเสนอแผนสันติภาพนาทีสุดท้ายด้วยจำกัดเวลาสั้นอย่างเป็นไปไม่ได้ในความพยายามที่จะกล่าวโทษว่าสงครามเป็นผลจากความเฉื่อยชาของอังกฤษและโปแลนด์
เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการบุกครองทางทหารต่อโปแลนด์ ฮิตเลอร์จึงอ้างสิทธิเหนือนครเสรีดานซิกและสิทธิในถนนนอกอาณาเขตข้ามฉนวนโปแลนด์ ซึ่งเยอรมนีได้ยกให้ภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย แม้ความกังวลของฮิตเลอร์ว่าอังกฤษอาจเข้าแทรกแซง ท้ายที่สุด เขาไม่ได้ยุติเป้าหมายในอันที่จะบุกครองโปแลนด์ และวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีก็ได้บุกครองโปแลนด์ทางตะวันตก อังกฤษและฝรั่งเศสสนองโดยประกาศสงครามต่อเยอรมนีในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจแก่ฮิตเลอร์ ทำให้เขาหันไปหาริบเบนทรอพและถามเขาอย่างโกรธ ๆ ว่า "ไงล่ะทีนี้" ฝรั่งเศสและอังกฤษมิได้ปฏิบัติตามการประกาศของตนในทันที และเมื่อวันที่ 17 กันยายน กองทัพโซเวียตบุกครองโปแลนด์จากทางตะวันออก
โปแลนด์จะไม่มีวันกำหนดขึ้นใหม่ในรูปของสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งไม่ได้รับประกันแต่เฉพาะโดยเยอรมนี แต่ยังรวมถึง ... รัสเซีย
การสูญเสียโปแลนด์ตามมาด้วยสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยเรียกว่า "สงครามลวง" หรือซิทซครีก ฮิตเลอร์สั่งการให้เกาไลแตร์แห่งโปแลนด์ตะวันตกเฉียงเหนือ อัลแบร์ท ฟอร์สแตร์ และอาร์ธูร์ ไกรแซร์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ "แผลง[พื้นที่]เป็นเยอรมัน" (Germanise) และให้สัญญาแก่ทั้งสองว่า "จะไม่มีการตั้งคำถาม" ถึงวิธีการที่ใช้ ด้วยความรำคาญใจของฮิมม์เลอร์ ฟอร์สแตร์ให้ชาวโปแลนด์ท้องถิ่นลงนามในแบบซึ่งประกาศว่าพวกเขามีเลือดเยอรมัน และไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานอื่นประกอบ แต่อีกด้านหนึ่ง ไกรแซร์เริ่มการรณรงค์ล้างเชื้อชาติอย่างโหดร้ายต่อประชากรโปแลนด์ในอำนาจของเขา ไกรแซร์บ่นกับฮิตเลอร์ว่าฟอร์สแตร์อนุญาตให้ชาวโปแลนด์หลายพันคนได้รับการยอมรับว่าเป็นชาวเยอรมัน "โดยเชื้อชาติ" และดังนั้น ในมุมมองของไกรแซร์ จึงเป็นอันตรายต่อ "ความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติ" ของเยอรมัน ฮิตเลอร์บอกฮิมม์เลอร์และไกรแซร์ให้ยอมรับความขับข้องกับฟอร์สแตร์ และไม่ให้พาดพิงถึงเขา การจัดการกับกรณีพิพาทฟอร์สแตร์-ไกรแซร์นั้น ได้ถูกพัฒนาเป็นตัวอย่างของทฤษฎี "ทำงานมุ่งสู่ฟือเรอร์" ของเคอร์ชอว์ หมายความว่า ฮิตเลอร์สั่งการอย่างคลุมเครือและคาดหวังให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาดำเนินนโยบายนั้นเอง
อีกกรณีพิพาทหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายที่แตกต่างกัน ด้านหนึ่ง นำโดยฮิมม์เลอร์และไกรแซร์ สนับสนุนการกวาดล้างเชื้อชาติในโปแลนด์ และอีกด้านหนึ่ง นำโดยเกอริงและฮันส์ ฟรังค์ ข้าหลวงใหญ่ดินแดนเจเนรัลกอแวร์นเมนท์ในโปแลนด์เขตยึดครอง เรียกร้องให้เปลี่ยนโปแลนด์เป็น "ยุ้งฉาง" ของไรช์ ในการประชุมซึ่งจัดที่คฤหาสน์คารินฮัลของเกอริงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1940 กรณีพิพาทนี้เดิมได้รับการตัดสินเห็นชอบกับมุมมองการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเกอริง-ฟรังค์ ซึ่งยุติการเนรเทศขนานใหญ่ซึ่งรบกวนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ฮิมม์เลอร์นำเสนอฮิตเลอร์ด้วยบันทึกข้อความ "บางคติว่าด้วยการปฏิบัติต่อประชากรต่างด้าวในทางตะวันออก" ซึ่งเรียกร้องให้ขับไล่ประชากรยิวทั้งยุโรปไปยังแอฟริกาและลดฐานะประชากรโปแลนด์ที่เหลือลงเป็น "ชนชั้นแรงงานไร้ผู้นำ" ฮิตเลอร์เรียกบันทึกข้อความของฮิมม์เลอร์ว่า "ดีและถูกต้อง" เขาจึงละเลยเกอริงและฟรังค์ และนำนโยบายของฮิมม์เลอร์-ไกรแซร์ไปปฏิบัติในโปแลนด์
ฮิตเลอร์สั่งการให้เสริมสร้างกำลังทหารตามชายแดนตะวันตกของเยอรมนี และในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันบุกครองเดนมาร์กและนอร์เวย์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองทัพของฮิตเลอร์โจมตีฝรั่งเศส และพิชิตลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ชัยชนะเหล่านี้กระตุ้นให้มุสโสลินีนำอิตาลีเข้าพวกกับฮิตเลอร์ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสยอมจำนนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940
อังกฤษ ซึ่งกองทัพถูกบีบให้ออกจากฝรั่งเศสทางทะเลจากดันเคิร์ก ยังคงสู้รบเคียงข้างเครือจักรภพอังกฤษอื่น ๆ ในยุทธนาวีแอตแลนติก ฮิตเลอร์ทาบทามสันติภาพต่ออังกฤษ ซึ่งขณะนี้นำโดยวินสตัน เชอร์ชิลล์ และเมื่อการทาบทามนั้นถูกปฏิเสธ เขาได้สั่งการทิ้งระเบิดโฉบฉวยต่อสหราชอาณาจักร โหมโรงสู่การบุกครองสหราชอาณาจักรที่วางแผนไว้ของฮิตเลอร์เป็นชุดการโจมตีทางอากาศในยุทธการบริเตนต่อฐานทัพอากาศกองทัพอากาศอังกฤษ และสถานีเรดาร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ อย่างไรก็ดี ลุฟท์วัฟเฟอของเยอรมนีไม่สามารถเอาชนะกองทัพอากาศอังกฤษ
วันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 สนธิสัญญาไตรภาคีได้รับการลงนามในกรุงเบอร์ลิน โดยซาบุโร คุรุสุ แห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น, ฮิตเลอร์ และรัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี ซิอาโน ข้อตกลงดังกล่าวภายหลังขยายไปรวมถึงฮังการี โรมาเนียและบัลแกเรีย ประเทศเหล่านี้รู้จักกันในชื่อกลุ่มอักษะประเทศ จุดประสงค์ของสนธิสัญญาคือ เพื่อขัดขวางสหรัฐอเมริกามิให้สนับสนุนอังกฤษ จนถึงปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1940 ความเป็นเจ้าทางอากาศสำหรับการบุกครองอังกฤษ ปฏิบัติการสิงโตทะเล ไม่อาจบรรลุได้ และฮิตเลอร์สั่งการตีโฉบฉวยทางอากาศยามกลางคืนตามนครต่าง ๆ ของอังกฤษ รวมทั้งลอนดอน พลีมัธและโคเวนทรี
ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ถูกทำให้ไขว้เขวจากแผนการทางตะวันออกโดยกิจกรรมทางทหารในแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรบอลข่านและตะวันออกกลาง ในเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพเยอรมันไปถึงลิเบียเพื่อสนับสนุนอิตาลี ในเดือนเมษายน ฮิตเลอร์สั่งการบุกครองยูโกสลาเวีย และตามด้วยการบุกครองกรีซในเวลาอันรวดเร็ว ในเดือนพฤษภาคม กองทัพเยอรมันถูกส่งไปสนับสนุนกำลังกบฏอิรักที่สู้รบต่ออังกฤษและบุกครองครีต วันที่ 23 พฤษภาคม ฮิตเลอร์ออกคำสั่งฟือเรอร์ ฉบับที่ 30
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 โดยฝ่าฝืนสนธิสัญญาไม่รุกรานฮิตเลอร์-สตาลิน ทหารเยอรมันสามล้านนายโจมตีสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซา การบุกครองนี้ได้ยึดพื้นที่ได้กว้างใหญ่ไพศาล รวมทั้งรัฐบอลติก เบลารุสและยูเครน อย่างไรก็ดี การรุกคืบของเยอรมนีหยุดลงไม่ไกลจากกรุงมอสโกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยฤดูหนาวของรัสเซียและการต้านทานอย่างดุเดือดของโซเวียต
การชุมนุมของทหารโซเวียตตรงพรมแดนตะวันออกของเยอรมนีในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1941 อาจเป็นเหตุให้ฮิตเลอร์มามีส่วนในฟลุคท์ นัค ฟอร์น ("บินไปข้างหน้า") เพื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกตอร์ ซูโวรอฟ, แอร์นสท์ โทพิทช์, โจอาคิม ฮอฟฟ์มันน์, แอร์นสท์ นอลเทอ และเดวิด เอียร์วิง ได้ถกเถียงกันว่าเหตุผลอย่างเป็นทางการสำหรับบาร์บารอสซาที่กองทัพเยอรมันให้นั้นเป็นเหตุผลแท้จริง คือ สงครามป้องกันเพื่อปัดป้องการโจมตีของโซเวียตที่เตรียมการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ถูกติเตียน นักประวัติศาสตร์อเมริกัน เกอร์ฮาร์ด ไวน์เบิร์ก เคยเปรียบผู้สนับสนุนทฤษฎีสงครามป้องกันกับผู้ที่เชื่อใน "เทพนิยาย"
การบุกครองสหภาพโซเวียตของกองทัพบกเยอรมันถึงขีดสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อกองพลทหารราบที่ 258 รุกเข้าไปภายในรัศมี 24 กิโลเมตรจากกรุงมอสโก ใกล้พอที่จะเห็นยอดแหลมของเครมลิน อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้เตรียมการสำหรับสภาพอันโหดร้ายของฤดูหนาวรัสเซีย และกองทัพโซเวียตผลักดันกองทัพเยอรมันกลับมาเป็นระยะทางกว่า 320 กิโลเมตร
วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ รัฐฮาวาย สี่วันให้หลัง การประกาศสงครามอย่างเป็นทางการต่อสหรัฐอเมริกาของฮิตเลอร์ ทำให้เยอรมนีเข้าสู่สงครามกับกำลังผสมซึ่งมีประเทศจักรวรรดิใหญ่ที่สุดในโลก คือ จักรวรรดิอังกฤษ ประเทศอุตสาหกรรมและการเงินยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหภาพโซเวียต
เมื่อฮิมม์เลอร์พบฮิตเลอร์ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1941 แล้วตั้งคำถาม "จะทำอย่างไรกับยิวแห่งรัสเซีย" ฮิตเลอร์ตอบว่า "als Partisanen auszurotten" ("กำจัดพวกมันเหมือนเป็นพวกกลุ่มต่อต้าน" [partisan]) นักประวัติศาสตร์อิสราเอล เยฮูดา บาวเออร์ (Yehuda Bauer) ได้ออกความเห็นว่า ความเห็นของฮิตเลอร์นี้อาจใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่นักประวัติศาสตร์จะหาคำสั่งสรุปขั้นสุดท้ายจากฮิตเลอร์ในพันธุฆาตที่ดำเนินระหว่างการล้างชาติโดยนาซี
ปลาย ค.ศ. 1942 กองทัพเยอรมันปราชัยในยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สอง ขัดขวางแผนการของฮิตเลอร์ในการยึดคลองสุเอซและตะวันออกกลาง เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ยุทธการสตาลินกราดสิ้นสุดลงด้วยกองทัพเยอรมันที่หกถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ตามด้วยความพ่ายแพ้เด็ดขาดในยุทธการเคิสก์ การตัดสินใจทางทหารของฮิตเลอร์เริ่มไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น และฐานะทางทหารและเศรษฐกิจของเยอรมนีบั่นทอนลงไปพร้อมกับสุขภาพของฮิตเลอร์ เคอร์ชอว์และคนอื่นๆ เชื่อว่า ฮิตเลอร์อาจป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน
หลังการบุกครองอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ. 1943 มุสโสลินีถูกปลดโดย ปีเอโตร บาโดลโย ผู้ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอด ค.ศ. 1943 และ 1944 สหภาพโซเวียตค่อย ๆ บีบให้กองทัพของฮิตเลอร์ล่าถอยตามแนวรบด้านตะวันออก วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในหนึ่งในปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด ด้วยเหตุความเสื่อมถอยของกองทัพเยอรมัน นายทหารหลายคนจึงสรุปว่า ความพ่ายแพ้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการตัดสินใจผิดพลาดหรือการปฏิเสธของฮิตเลอร์จะยืดสงครามออกไปและส่งผลให้ประเทศชาติพังพินาศย่อยยับ ความพยายามลอบสังหารที่ได้รับความสนใจหลายครั้งต่อฮิตเลอร์เกิดขึ้นระหว่างช่วงนี้
ระหว่าง ค.ศ. 1939 และ 1945 มีหลายแผนในการลอบสังหารฮิตเลอร์ ซึ่งบางแผนดำเนินไปยังระดับที่สำคัญ แผนที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดมาจากภายในเยอรมนี และอย่างน้อยบางส่วนมาจากโอกาสที่เพิ่มขึ้นที่เยอรมนีจะแพ้สงคราม ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 แผนลับ 20 กรกฎาคม ส่วนหนึ่งของปฏิบัติการวาลคิรี เคลาส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนแบร์กติดตั้งระเบิดไว้ในกองบัญชาการแห่งหนึ่งของฮิตเลอร์ โวลฟ์สชันเซอ (รังหมาป่า) ที่รัสเทนบูร์ก ฮิตเลอร์รอดชีวิตอย่างหวุดหวิดเพราะบางคนผลักกระเป๋าเอกสารที่บรรจุระเบิดไปหลังขาโต๊ะประชุมที่หนักอย่างไม่รู้ เมื่อเกิดระเบิดขึ้น โต๊ะสะท้อนแรงระเบิดส่วนมากไปจากฮิตเลอร์ ภายหลัง ฮิตเลอร์สั่งการตอบโต้อย่างโหดร้าย ซึ่งส่งผลให้มีการประหารชีวิตคนกว่า 4,900 คน
จนถึงปลาย ค.ศ. 1944 กองทัพแดงได้ขับกองทัพเยอรมันถอยกลับไปยังยุโรปตะวันตก และสัมพันธมิตรตะวันตกกำลังรุกคืบเข้าไปในเยอรมนี หลังได้รับแจ้งความล้มเหลวของการรุกอาร์เดนเนสของเขา ฮิตเลอร์จึงตระหนักว่าเยอรมนีกำลังแพ้สงคราม ความหวังของเขา ซึ่งขึ้นอยู่กับการถึงแก่อสัญกรรมของแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1945 คือ การเจรจาสันติภาพกับอเมริกาและอังกฤษ ฮิตเลอร์สั่งการให้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมทั้งหมดของเยอรมนีก่อนที่จะตกอยู่ในมือฝ่ายสัมพันธมิตร โดยทำตามมุมมองของเขาที่ว่าความล้มเหลวทางทหารของเยอรมนีเสียสิทธิ์ในการอยู่รอดเป็นชาติ การดำเนินการแผนการเผาทุกสิ่งทุกอย่างนี้ถูกมอบหมายไปยังรัฐมนตรีอาวุธ อัลแบร์ท สเพร์ ผู้ขัดคำสั่งเขาอย่างเงียบ ๆ
วันที่ 20 เมษายน วันเกิดปีที่ 56 ของเขา ฮิตเลอร์เดินทางครั้งสุดท้ายจากฟือแรร์บุงเกอร์ ("ที่พักของฟือแรร์") ไปยังผิวโลก ในสวนที่ถูกทำลายของทำเนียบรัฐบาลไรช์ เขามอบกางเขนเหล็กให้ทหารเด็กแห่งยุวชนฮิตเลอร์ จนถึงวันที่ 21 เมษายน แนวรบเบลารุสที่ 1 ของเกออร์กี จูคอฟ ได้เจาะผ่านการป้องกันสุดท้ายของกองทัพกลุ่มวิสตูลาของพลเอก กอททาร์ด ไฮน์รีซี ระหว่างยุทธการที่ราบสูงซีโลว์ และรุกเข้าไปยังชานกรุงเบอร์ลิน ในการไม่ยอมรับเกี่ยวกับสถานการณ์อันเลวร้ายเพิ่มขึ้น ฮิตเลอร์ตั้งความหวังของเขาต่อหน่วย อาร์เมอับไทลุง สไทเนอร์ ("กองทหารสไทเนอร์") ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารวัฟเฟน เอสเอส พลเอก เฟลิกซ์ สไทเนอร์ ฮิตเลอร์สั่งการให้สไทเนอร์โจมตีปีกด้านเหนือของส่วนที่ยื่นออกมา และกองทัพเยอรมันที่เก้าได้รับคำสั่งให้โจมตีไปทางเหนือในการโจมตีแบบก้ามปู (pincer attack)
ระหว่างการประชุมทหารเมื่อวันที่ 22 เมษายน ฮิตเลอร์ถามถึงการรุกของสไทเนอร์ หลังความเงียบเป็นเวลานาน เขาได้รับบอกเล่าว่า การโจมตีนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและพวกรัสเซียได้ตีฝ่าเข้าไปในกรุงเบอร์ลิน ข่าวนี้ทำให้ฮิตเลอร์ขอให้ทุกคนยกเว้นวิลเฮล์ม ไคเทล, อัลเฟรด โจดล์, ฮันส์ เครบส์ และวิลเฮล์ม บูร์กดอร์ฟออกจากห้อง จากนั้น เขาได้ประณามทรยศและความไร้ความสามารถของผู้บังคับบัญชาของเขาอย่างเผ็ดร้อน และลงเอยด้วยการประกาศเป็นครั้งแรกว่า เยอรมนีแพ้สงคราม ฮิตเลอร์ประกาศว่าเขาจะอยู่ในกรุงเบอร์ลินจนถึงจุดจบและจากนั้นยิงตัวตาย
เกิบเบลส์ได้ออกประกาศวันที่ 23 เมษายน กระตุ้นให้พลเมืองเบอร์ลินป้องกันนครอย่างกล้าหาญ วันเดียวกันนั้น เกอริงส่งโทรเลขจากเบอร์ชเทสกาเดนในรัฐบาวาเรีย แย้งว่า ตั้งแต่ฮิตเลอร์ถูกตัดขาดในกรุงเบอร์ลิน ตัวเขาควรเป็นผู้นำเยอรมนีแทน เกอริงได้กำหนดเวลา หลังจากนั้นเขาจะพิจารณาว่าฮิตเลอร์ไร้ความสามารถ ฮิตเลอร์สนองด้วยความโกรธโดยสั่งจับกุมเกอริง และเมื่อเขียนพินัยกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน เขาถอดเกอริงออกจากตำแหน่งทั้งหมดในรัฐบาล
กรุงเบอร์ลินได้มาถูกตัดขาดจากส่วนที่เหลือของเยอรมนีอย่างสิ้นเชิง วันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์พบว่า ฮิมม์เลอร์กำลังพยายามเจรจาเงื่อนไขการยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตรตะวันตก เขาจึงสั่งจับกุมฮิมม์เลอร์และสั่งยิงแฮร์มันน์ เฟเกไลน์ (ผุ้แทนเอสเอสของฮิมม์เลอร์ที่กองบัญชาการของฮิตเลอร์ในกรุงเบอร์ลิน)
หลังเที่ยงคืนวันที่ 29 เมษายน ฮิตเลอร์สมรสกับเอวา เบราน์ในพิธีตามกฎหมายเล็ก ๆ ในห้องแผนที่ภายในฟือแรร์บุงเกอร์ หลังทานอาหารเช้างานแต่งที่เรียบง่ายกับภรรยาใหม่ของเขา จากนั้น เขานำเลขานุการเทราดล์ จุนเกอ (Traudl Junge) ไปอีกห้องหนึ่งและบอกให้เขียนพินัยกรรมสุดท้ายของเขา เหตุการณ์ดังกล่าวมีฮันส์ เครบส์, วิลเฮล์ม บูร์กดอร์ฟ โจเซฟ เกิบเบิลส์ และมาร์ติน บอร์มันน์เป็นพยานและผู้ลงนามเอกสาร ในช่วงบ่าย ฮิตเลอร์ได้รับแจ้งถึงการลอบสังหารผู้เผด็จการชาวอิตาลี เบนิโต มุสโสลินี ซึ่งอาจเพิ่มความตั้งใจที่จะหนีการจับตัว
วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 หลังการสู้รบถนนต่อถนนอย่างเข้มข้น เมื่อกองทัพโซเวียตอยู่ในระยะหนึ่งหรือสองช่วงตึกจากทำเนียบรัฐบาลไรช์ ฮิตเลอร์และเบราน์ทำอัตวินิบาตกรรม เบราน์กัดแคปซูลไซยาไนด์ และฮิตเลอร์ยิงตัวตายด้วยปืนพกวัลเทอร์ เพเพคา (Walther PPK) 7.65 มม. ของเขา ร่างไร้วิญญาณของฮิตเลอร์และเอวา เบราน์ถูกนำขึ้นบันไดและผ่านทางออกฉุกเฉินของบังเกอร์ไปยังสวนที่ถูกระเบิดหลังทำเนียบรัฐบาลไรช์ ที่ซึ่งทั้งสองร่างถูกวางไว้ในหลุมระเบิด ราดด้วยน้ำมัน และจุดไฟ ขณะที่กองทัพแดงยิงปืนใหญ่ถล่มต่อเนื่อง
เบอร์ลินยอมจำนนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม บันทึกในจดหมายเหตุโซเวียต ซึ่งได้มาหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แสดงให้เห็นว่า ศพของฮิตเลอร์ เบราน์ โจเซฟและมักดา เกิบเบลส์ ลูก ๆ เกิบเบลส์ทั้งหกคน พลเอกฮันส์ เครบส์ และสุนัขของฮิตเลอร์ ถูกฝังและขุดขึ้นมาหลายครั้ง
อัตวินิบาตกรรมของอิตเลอร์ถูกเปรียบเทียบโดยคนร่วมสมัยว่าเป็น "คาถา" กำลังเสื่อม โทแลนด์ระบุว่า เมื่อปราศจากผู้นำ ลัทธิชาติสังคมนิยมก็ "ระเบิดเหมือนกับฟอง"
พฤติการณ์ของฮิตเลอร์และอุดมการณ์นาซีถูกคนเกือบทั้งโลกมองว่า ผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง โครงการการเมืองของเขานำมาซึ่งสงครามโลก ทิ้งไว้ซึ่งยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางที่ถูกทำลายล้างและยากจน ประเทศเยอรมนีเองประสบการถูกทำลายไม่เลือก โดยแสดงคุณสมบัติว่าเป็น "เวลาเริ่มต้น" (Zero Hour) นโยบายของฮิตเลอร์ทำให้มนุษย์ได้รับความทุกข์ทรมานในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 40 ล้านคนโดยประมาณ หรือ 27 ล้านคนเฉพาะในสหภาพโซเวียต นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญาและนักการเมืองมักใช้คำว่า "ชั่วร้าย" (evil) ในการอธิบายระบอบนาซี ในเยอรมนีและออสเตรีย กฎหมายห้ามการปฏิเสธการล้างชาติโดยนาซี (Holocaust denial) และการแสดงสัญลักษณ์นาซี เช่น สวัสดิกะ
นักประวัติศาสตร์พรรคเสรีนิยมแห่งชาติเยอรมัน ฟรีดริช ไมเนเคอ (Friedrich Meinecke) อธิบายฮิตเลอร์ว่าเป็น "หนึ่งในตัวอย่างสำคัญของอำนาจบุคลิกภาพพิเศษและเหลือคณาในชีวิตประวัติศาสตร์" นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเพอร์มองเขาว่าเป็น "หนึ่งใน 'ผู้ทำให้ง่ายขึ้นอย่างมหันต์' ของประวัติศาสตร์ ผู้พิชิตที่เป็นระบบที่สุด เกี่ยวข้องกับการศึกษาประวัติศาสตร์ที่สุด ยึดหลักปรัชญาที่สุด หากก็หยาบช้าที่สุด โหดร้ายที่สุด และมีจิตใจสูงน้อยที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จักมา" สำหรับนักประวัติศาสตร์ จอห์น เอ็ม. โรเบิร์ตส ความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์เป็นจุดจบของช่วงประวัติศาสตร์ยุโรปที่ถูกเยอรมนีครอบงำ และแทนที่ด้วยสงครามเย็น ซึ่งเป็นการเผชิญหน้าในระดับโลกระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา
บิดามารดาของฮิตเลอร์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่หลังย้ายออกจากบ้านแล้ว เขาไม่เคยเข้าพิธีมิสซาหรือรับศีลศักดิ์สิทธิ์เลย เขาเชิดชูลักษณะจำนวนหนึ่งของนิกายโปรแตสแตนต์ที่เหมาะกับมุมมองของเขาเอง และรับเอาบางลักษณะของการจัดการเป็นระบบลำดับขั้นของศาสนจักรคาทอลิก พิธีสวดและสำนวนโวหารมาใช้ในการเมืองของเขาด้วย หลังเขาย้ายไปยังเยอรมนี ฮิตเลอร์ไม่เคยออกจากศาสนจักรของเขาเลย นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด สไทก์มันน์-กัลล์ (Richard Steigmann-Gall) สรุปว่า เขา "สามารถจัดว่าเป็นคาทอลิกได้" แต่ "สมาชิกภาพศาสนจักรแต่ในนามเป็นตัววัดที่เชื่อถือไม่ได้อย่างมากในการวัดความศรัทธาแท้จริงในบริบทนี้"
ต่อสาธารณะ ฮิตเลอร์มักยกย่องมรดกคริสเตียนและวัฒนธรรมคริสเตียนเยอรมัน และปฏิญาณความเชื่อในพระเยซูคริสต์ "อารยัน" พระเยซูผู้ต่อสู้กับพวกยิว เขากล่าวถึงการตีความศาสนาคริสต์ของเขาว่าเป็น แรงจูงใจสำคัญแก่การต่อต้านยิวของเขา โดยว่า "ในฐานะคริสเตียน ผมไม่มีหน้าที่จะปล่อยให้ตัวเองถูกหลอกลวง แต่ผมมีหน้าที่ที่จะสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรม" แต่สำหรับส่วนตัว ฮิตเลอร์วิจารณ์ศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม โดยพิจารณาว่าเป็นศาสนาที่เหมาะสมเฉพาะสำหรับทาส เขายกย่องอำนาจแห่งโรมแต่ยังรักษาความเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อคำสอนของโรม นักประวัติศาสตร์ จอห์น เอส. คอนเวย์ ว่า ฮิตเลอร์ยึดถือ "การต่อต้านหลัก" ต่อศาสนจักรคริสเตียน
ด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองกับศาสนจักร ฮิตเลอร์รับเอายุทธศาสตร์ "ที่เหมาะสมกับจุดประสงค์ทางการเมืองที่ส่งผลโดยตรงของเขา" ตามรายงานของสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ฮิตเลอร์มีแผนการใหญ่ ตั้งแต่ก่อนเขาก้าวขึ้นสู่อำนาจ ทำลายอิทธิพลของศาสนจักรคริสต์ภายในจักรวรรดิไรช์ รายงานชื่อ "แผนแม่บทนาซี" (The Nazi Master Plan) ระบุว่า การทำลายล้างศาสนจักรเป็นเป้าหมายของขบวนการตั้งแต่เริ่มต้น แต่เป็นการไม่เหมาะสมที่จะแสดงท่าทีสุดโต่งนี้อย่างเปิดเผย เจตนาของเขา ตามข้อมูลของบุลล็อก คือ รอกระทั่งสงครามยุติแล้วจึงค่อยทำลายอิทธิพลของศาสนาคริสต์
ฮิตเลอร์ยกย่องประเพณีทางทหารของมุสลิม แต่มองว่าชาวอาหรับ "เป็นเชื้อชาติต่ำกว่า" เขาเชื่อว่า ชาวเยอรมันที่เป็นเชื้อชาติสูงส่งกว่า ร่วมกับศาสนาอิสลาม สามารถพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของโลกได้ระหว่างยุคกลาง ระหว่างการประชุมกับศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1931 ฮิตเลอร์ยกย่องศาสนาชินโตและวัฒนธรรมญี่ปุ่น แม้ฮิมม์เลอร์จะสนใจในเวทมนตร์ การตีความอักษรรูน และการตามรอยรากเหง้าก่อนประวัติศาสตร์ของชาวเยอรมัน แต่ฮิตเลอร์นั้นเน้นการปฏิบัติมากกว่า และอุดมการณ์ของเขารวมอยู่ที่ความเกี่ยวพันทางปฏิบัติมากกว่า
นักวิจัยได้เสนอว่า ฮิตเลอร์ทุกข์ทรมานจากอาการและโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคลำไส้แปรปรวน รอยโรคที่ผิวหนัง หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคพาร์กินสันซิฟิลิส และมีเสียงในหู ทฤษฎีเกี่ยวกับสภาวะทางการแพทย์ของฮิตเลอร์ยากจะพิสูจน์ และตามทฤษฎีเหล่านี้ น้ำหนักมากเกินอาจมีผลซึ่งหลาย ๆ เหตุการณ์และผลที่เกิดขึ้นภายหลังของจักรวรรดิไรช์ที่สามอาจมาจากสุขภาพทางกายที่เป็นไปได้ว่าบกพร่องของปัจเจกบุคคลหนึ่งเดียว เคอร์ชอว์รู้สึกว่า เป็นการดีกว่าที่จะที่จะถือมุมมองของประวัติศาสตร์เยอรมันที่กว้างกว่า โดยพิจารณาว่า แรงผลักทางสังคมใดนำไปสู่จักรวรรดิไรช์ที่สามและนโยบายมากกว่าเจริญรอยตามคำอธิบายแคบ ๆ แก่การล้างชาติโดยนาซีและสงครามโลกครั้งที่สองโดยอิงบุคคลเพียงคนเดียว
ฮิตเลอร์กินมังสวิรัติ ในงานสังคม บางครั้งเขาให้คำอธิบายการฆ่าสัตว์ด้วยกราฟิกด้วยพยายามให้แขกอาหารเย็นของเขาไม่กินเนื้อ มีการอ้างเหตุผลกว้างขวางมากที่สุดว่า ความกลัวโรคมะเร็ง (ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มารดาของเขาเสียชีวิต) ทำให้ฮิตเลอร์กินมังสวิรัติ เขาเป็นผู้ต้านการทดลองในสัตว์ และอาจเลือกทานอาหารเพราะความเป็นห่วงสัตว์อย่างลึกซึ้ง บอร์มันน์สั่งให้สร้างเรือนกระจกใกล้กับแบร์กฮอฟ (ใกล้กับแบร์ชเทสกาเดน) เพื่อให้ฮิตเลอร์มีผลไม้และผักเพียงพออย่างต่อเนื่องตลอดสงคราม ฮิตเลอร์ดูถูกแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่ เขาส่งเสริมการรณรงค์งดสูบบุหรี่อย่างห้าวหาญทั่วประเทศเยอรมนี ฮิตเลอร์เริ่มใช้แอมเฟตามีนเป็นครั้งคราวตั้งแต่ ค.ศ. 1937 และเริ่มติดยาในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1942 อัลแบร์ท สเพร์เชื่อมโยงการใช้แอมเฟตามีนนี้กับการตัดสินใจที่ไม่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของฮิตเลอร์ (ตัวอย่างเช่น ไม่เคยอนุญาตการร่นถอยทางทหาร)
ฮิตเลอร์ได้รับการสั่งจ่ายยาถึงเก้าสิบชนิดที่แตกต่างกันระหว่างสงคราม และทานยาหลายเม็ดต่อวันเพราะปัญหากระเพาะอาหารเรื้อรังและอาการป่วยอื่น ๆ เขาทุกข์ทรมานจากแก้วหูทะลุ อันเป็นผลของแรงระเบิดในแผนลับ 20 กรกฎาคม ใน ค.ศ. 1944 และถูกถอนเสี้ยนไม้สองร้อยชิ้นออกจากขาของเขา ฟิลม์ภาพยนตร์ข่าวฮิตเลอร์แสดงให้เห็นว่า มือฮิตเลอร์สั่นและเขาเดินย่องแย่ง ซึ่งเริ่มขึ้นก่อนสงครามและเลวร้ายลงเมื่อใกล้บั้นปลายชีวิต แพทย์ประจำตัวฮิตเลอร์ เธโอดอร์ โมเรลล์ รักษาฮิตเลอร์ด้วยยาซึ่งสั่งจ่ายโดยทั่วไปเพื่อรักษาโรคพาร์กินสันใน ค.ศ. 1945 แอร์นสท์-กึนเทอร์ เชนค์และแพทย์อีกหลายคนพบฮิตเลอร์ในสัปดาห์ท้าย ๆ ของชีวิตเพื่อวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน
ฮิตเลอร์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนต่อสาธารณะว่าเป็นภาพลักษณ์ชายที่อยู่เป็นโสดโดยปราศจากชีวิตครอบครัว อุทิศตนทั้งหมดให้แก่ภารกิจทางการเมืองและประเทศชาติของเขา เขาพบเอวา เบราน์ ภรรยาลับของเขา ใน ค.ศ. 1929 และสมรสกับเธอในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1931 เกลี เราบัล หลานสาวของเขา ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยปืนของฮิตเลอร์ในอพาร์ตเมนต์ในมิวนิกของเขา มีข่าวลือในบรรดาคนร่วมสมัยว่า เกลีมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับเขา และความตายของเธอนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ลึกล้ำและยาวนาน เพาลา ฮิตเลอร์ สมาชิกคนสุดท้ายของครอบครัวฮิตเลอร์สายตรงคนสุดท้าย เสียชีวิตใน ค.ศ. 1960